อธิบายรายละเอียดและข้อแตกต่างในการสร้างบ้านใหม่แต่ละแนวทาง ทั้งการว่าจ้างสถาปนิกและผู้รับเหมา การใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน การซื้อแบบบ้านหรือใช้แบบบ้านฟรีพร้อมจัดหาผู้รับเหมา และการซื้อบ้านสำเร็จรูป
การจะมีบ้านสักหลังนั้นสามารถทำได้หลายวิธี บางคนอาจเลือกซื้อบ้านมือหนึ่งหรือมือสองที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกัน หากเจ้าของบ้านมีที่ดินเป็นของตัวเอง หรือตั้งใจจะซื้อที่ดินทำเลที่ถูกใจเพื่อลงหลักปักฐานอยู่อาศัยระยะยาว ย่อมต้องทำการสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาบนที่ดินนั้นๆ ซึ่งโดยหลักแล้วสามารถเลือกได้ 4 แนวทางดังต่อไปนี้
1) สร้างบ้านใหม่โดยใช้บริการทีมสถาปนิกออกแบบ และจัดหาผู้รับเหมา
ข้อดีคือได้แบบบ้านที่เหมาะสมกับการใช้งานและลักษณะที่ดิน มีรูปแบบไม่ซ้ำใคร โดยสถาปนิกจะออกแบบบ้านภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ รวมถึงประสานงานกับวิศวกรทั้งงานโครงสร้างและงานระบบ เพื่อทำแบบก่อสร้าง พร้อมลงนามรับรองแบบเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ทั้งนี้ ในสัญญาว่าจ้างสถาปนิกอาจครอบคลุมถึงบริการอื่น ได้แก่ การจัดทำเอกสารราคากลางค่าก่อสร้าง เป็นที่ปรึกษาและดูแลงานในช่วงก่อสร้าง ภาพ: บ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิก (ภาพบน ขอขอบคุณสถานที่ : บ้านคุณพรทิพย์ ล้อสีทอง)
สำหรับแนวทางนี้ เจ้าของบ้านจะต้องเผื่อเวลาช่วงการจัดทำแบบ และเตรียมงบประมาณสำหรับค่าบริการตามมาตรฐานวิชาชีพด้วย รวมถึงต้องจัดหาผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเอง โดยสถาปนิกจะเป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกผู้รับเหมาทั้งนี้ เจ้าของบ้านควรเลือกสถาปนิก วิศวกร ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่องานที่มีมาตรฐาน และในขั้นตอนการออกแบบควรปรับแก้แบบให้เสร็จเรียบร้อยก่อนลงมือก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการแก้แบบขณะก่อสร้างหากไม่จำเป็น เพื่อป้องกันปัญหาก่อสร้างล่าช้าและงบประมาณบานปลาย
สนใจ บริการออกแบบบ้านโดยสถาปนิกมืออาชีพ คลิก
2) สร้างบ้านใหม่โดยใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน
เป็นบริการแบบครบวงจรตั้งแต่การให้คำปรึกษา จัดทำแบบ และก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์เป็นบ้านหนึ่งหลัง มีทั้งสถาปนิก วิศวกร และทีมงานก่อสร้างครบถ้วน ทั้งนี้ บริษัทรับสร้างบ้านอาจจะมีวิธีการก่อสร้างที่แตกต่างกัน หรือมีความเฉพาะตัว เช่น บ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบโครงสร้างสำเร็จรูป บ้านประหยัดพลังงานที่ใช้วัสดุลดความร้อน บ้านระบบโมดูลาร์ เป็นต้น โดยจะให้บริการอยู่ 2 รูปแบบ คือ
• ก่อสร้างบ้านจากแบบสำเร็จรูปที่เจ้าของบ้านเลือก วิธีนี้จะไม่สามารถปรับแก้แบบได้ หรืออาจทำได้เพียงเล็กน้อย โดยแต่ละแบบจะมีหลายราคาตามสเปควัสดุที่เลือกใช้
• มีบริการออกแบบโดยสถาปนิกและก่อสร้างตามแบบ ซึ่งแบบบ้านที่ได้อาจไม่แหวกแนวหรือมีแนวคิดโดดเด่นมากนัก เพราะต้องยึดตามวิธีก่อสร้างบ้านที่บริษัทชำนาญ ภาพ: ตัวอย่างแบบบ้านพร้อมบริการก่อสร้าง ซึ่งมีหลากหลายแบบให้ลูกค้าเลือกชมได้ทางเว็บไซต์
การใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมีข้อดี คือ คุมงบประมาณได้ค่อนข้างแน่นอน เจ้าของบ้านติดต่อกับบริษัทรับสร้างบ้านที่เดียวจบ ไม่ต้องจัดหาผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงานก่อสร้างเอง แต่ควรหาที่ปรึกษาคนกลางระหว่างเรากับบริษัทฯ เพื่อช่วยให้งานก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ เจ้าของบ้านควรเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่น่าเชื่อถือ มีประวัติผลงานที่ดี
สนใจ บริการออกแบบบ้านโดยสถาปนิกมืออาชีพ คลิก
3) สร้างบ้านใหม่โดยใช้แบบบ้านฟรีหรือหาซื้อแบบบ้าน และจัดหาผู้รับเหมา
แบบบ้านฟรีบางชุดอาจมีรายละเอียดครบเพียงพอที่จะใช้ก่อสร้างได้ แต่บางชุดก็มีเพียงแบบผังพื้นแต่ละชั้น รูปตัด รูปด้าน และภาพสามมิติหรือทัศนียภาพ ซึ่งต้องนำไปว่าจ้างทีมสถาปนิกพัฒนาแบบและจัดทำแบบก่อสร้างต่อไป ส่วนแบบบ้านที่ซื้อมานั้นมักจะมีรายละเอียดครบถ้วน ซึ่งนำไปก่อสร้างได้โดยเจ้าของบ้านอาจซื้อเอกสารราคากลางค่าก่อสร้าง (BOQ) เพิ่มเติม เพื่อนำไปให้ผู้รับเหมาประกวดราคาค่าก่อสร้าง ภาพ: ตัวอย่างแบบบ้านฟรีจากสำนักการโยธา
ทั้งนี้ แบบบ้านฟรีและแบบบ้านที่หาซื้อ มักมีค่าก่อสร้างระบุไว้ทำให้เรารู้งบประมาณคร่าวๆ อย่างไรก็ตาม แบบบ้านที่ได้ก็อาจจะไม่ลงตัวกับที่ดินของเรา หรือตอบโจทย์การใช้สอยได้ไม่ครบถ้วนนัก ซึ่งอาจต้องปรับแบบบางส่วน บางแบบที่มีการออกแบบโครงสร้างใต้ดินไว้แล้ว ควรให้วิศวกรพิจารณาความเหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ของเราด้วย นอกจากนี้ เจ้าของบ้านควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาคาร โดยเฉพาะเรื่องระยะถอยร่นต่างๆ เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการคัดเลือกแบบบ้านในเบื้องต้น และเมื่อได้แบบแล้วก็จะต้องจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างรวมถึงผู้ควบคุมงานก่อสร้างเอง เช่นเดียวกับการใช้บริการสถาปนิก
สนใจ บริการออกแบบบ้านโดยสถาปนิกมืออาชีพ คลิก
4) สร้างบ้านใหม่โดยการซื้อบ้านสำเร็จรูป
“บ้านสำเร็จรูป” หรือที่เรียกกันว่า บ้านพรีแฟบ (Prefab) บ้านน็อคดาวน์ (Knock Down) เป็นบ้านที่ผลิตชิ้นส่วนจากโรงงาน และนำมาติดตั้งหรือประกอบในพื้นที่ก่อสร้าง สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ควบคุมงบประมาณได้ดี โครงสร้างบ้านมักเป็นวัสดุเบาอย่าง เหล็ก ไม้ หรืออาจเป็นบ้านที่ปรับจากตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ เจ้าของบ้านมักจะต้องเตรียมโครงสร้างใต้ดิน (เสาเข็ม ฐานราก) ระบบไฟฟ้า และระบบประปาสุขาภิบาลรองรับไว้ก่อน
ภาพ: ตัวอย่างบ้านสำเร็จรูปที่สร้างด้วยระบบน็อคดาวน์ (Knock Down)
บ้านสำเร็จรูปมักมีแบบค่อนข้างจำกัดเพราะต้องผลิตจำนวนมากจึงจะคุ้มทุน ส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนแบบไม่ได้ วัสดุก่อสร้างก็มักกำหนดตายตัวเป็นมาตรฐาน อาจเปลี่ยนได้เพียงสีหรือรุ่นตามที่บริษัทกำหนดเท่านั้น และมีข้อจำกัดหากต้องการปรับปรุงหรือต่อเติมในอนาคต นอกจากนี้ ควรพิจารณาเรื่องตำแหน่งที่ดินว่ามีความสะดวกในการเดินทางขนส่ง และดำเนินการก่อสร้างเพียงใด หากอยู่ในซอยลึก ถนนแคบ เข้าถึงยาก มักไม่เหมาะ เนื่องจากรถหกล้อหรือรถเครนขนาดใหญ่ที่ใช้ขนชิ้นส่วนต่างๆ อาจไม่สามารถเข้าถึงได้
สนใจ บริการออกแบบบ้านโดยสถาปนิกมืออาชีพ คลิก
จะเห็นว่าการสร้างบ้านสักหลังนั้นบนที่ดินของเรานั้น อาจเป็นได้ทั้งการนำแบบบ้านมาให้ผู้รับเหมาสร้าง (โดยแบบบ้านอาจได้มาจากการจ้างสถาปนิกออกแบบ หรือใช้แบบบ้านที่มีขายหรือแจกฟรี) กับอีกทางหนึ่งคือ ใช้บริการจากบริษัทรับสร้างบ้านทั่วไป หรือผู้ให้บริการสร้างบ้านน็อคดาวน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สรุปออกมาเป็น 4 แนวทางสร้างบ้านตามที่ได้เล่าไปทั้งหมด ให้เจ้าของบ้านได้พิจารณาตามความถนัดรวมถึงความเหมาะสมด้านงบประมาณ (คลิก ดูบทความที่เกี่ยวข้อง “สร้างบ้านใหม่ จ้างสถาปนิกหาผู้รับเหมา VS สร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้าน”)