ปรับปรุงบ้านเก่า โดยเปลี่ยนโครงสร้างเดิมจากเสาคานคอนกรีตเป็นระบบโครงสร้างเหล็ก คงไว้เพียงพื้นชั้นล่างและโครงสร้างใต้ดิน รวมถึงปรับพื้นที่ใช้งานให้ตอบโจทย์ความต้องการเจ้าของบ้านเพื่อการอยู่อาศัยที่เหมาะสมและสบายกว่าเดิม
หากใครได้ผ่านมาพบบ้านหลังนี้ อาจคิดว่าเป็นบ้านปลูกสร้างใหม่ ด้วยรูปแบบบ้านที่โดดเด่นในสไตล์โมเดิร์น เส้นสายที่เรียบง่ายและสีเทาดำในลุคเคร่งขรึมดูสงบเสงี่ยมท่ามกลางบ้านยุคสหัสวรรษในละแวกเดียวกัน เสาตกแต่ง ระแนงไม้ สนามหญ้าสีเขียว และกลุ่มต้นไม้ใหญ่สร้างบรรยากาศอบอุ่นร่มรื่นเชื้อเชิญแขกผู้มาเยือน บ้านอายุราว 20 กว่าปีที่ผ่านการรีโนเวตหลังนี้เป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 500 ตร.ม. เทียบได้กับวัยกลางคนที่เริ่มมีโรคร้ายรุมเร้า ยิ่งตรวจเพื่อรักษายิ่งพบปัญหาอื่น ๆ ตามมา บ้านหลังนี้ก็เริ่มต้นจากปัญหาหลังคาน้ำรั่ว และเจ้าของบ้านตั้งใจจะซ่อมแซมเพียงเท่านี้ แต่เมื่อปรึกษากับสถาปนิกที่รู้จักกันให้เข้ามาช่วยสำรวจเพื่อแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหา จึงพบว่ารูปแบบหลังคาเดิมมีความซับซ้อนเป็นเหตุให้ เกิดรอยรั่วระหว่างรอยต่อของหลังคาหลายจุด และหลายส่วนในบ้านก็เริ่มชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพตามอายุขัย เจ้าของบ้านจึงตัดสินใจตามคำแนะนำของสถาปนิกว่าหากต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่แล้วก็รีโนเวตบ้านให้มีพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสม อยู่สบาย และสวยงามเพื่อการอยู่อาศัยที่ยาวนานต่อไปเลยดีกว่า
.
ลักษณะเดิมของบ้านและปัญหาที่พบ
สไตล์บ้านเดิมเป็นรูปแบบของบ้านทั่วไปแนวร่วมสมัยมุงหลังคาทรงปั้นหยาหลายชิ้นประกอบกัน เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จึงเกิดน้ำรั่วซึมเข้ามาได้ตรงรอยต่อของหลังคา และบริเวณรอบบ้านก็มีต้นไม้หลายต้น จึงเกิดปัญหาใบไม้ร่วงค้างบนหลังคาบ้าง อุดตันรางน้ำบ้าง สภาพบ้านโดยรอบทรุดโทรม พื้นที่ในบ้านไม่ตอบรับการใช้งานเท่าที่ควร จึงมีสิ่งของมารวม ๆ กันไว้หลายที่ พื้นรอบบ้านทรุดตัวทำให้เกิดรอยแยกระหว่างพื้นกับเสาและพื้นกับผนัง
ภาพ: รูปแบบบ้านเดิมแนวร่วมสมัย หลังคาปั้นหยาหลายชิ้น ทำให้เกิดปัญหารั่วซึมตามรอยต่อหลังคา
ภาพ: สภาพบ้านเดิมทรุดโทรม พื้นที่ใช้สอยในบ้านไม่ตอบรับการใช้งาน
ภาพ: พื้นที่รอบบ้านทรุดเห็นรอยแยกระหว่างเสากับพื้น
.
ภายในบ้านโดยรวมค่อนข้างมืด แสงสว่างภายนอกเข้ามาไม่เพียงพอโดยเฉพาะบริเวณโถงบันได ส่งผลให้ต้องเปิดไฟในตอนกลางวัน หลายห้องถูกปิดไม่ได้ใช้งานกลายเป็นห้องเก็บของ อีกทั้งผนังชั้นล่างมีรอยแตกร้าวทั้งแนวตรงและแนวขวาง ฝ้าเพดานชั้นบนค่อนข้างเตี้ยทำให้รู้สึกอึดอัด และมีรอยด่างจากน้ำรั่วที่หลังคาอยู่หลายจุด
ภาพ: ผนังเกิดรอยแตกร้าวในแนวตรงและแนวขวาง
ภาพ: โถงบันไดซึ่งเป็นตำแหน่งกลางบ้านค่อนข้างมืด และมีรอยน้ำรั่ว
ภาพ: ฝ้าเพดานชั้น 2 เตี้ยทำให้ดูแคบอึดอัด และมีรอยน้ำรั่ว
.
แนวคิดในการออกแบบปรับปรุง
จากปัญหาหลังคารั่วและระดับฝ้าเพดานชั้น 2 ค่อนข้างต่ำ สถาปนิกจึงแนะนำให้ปรับระดับความสูงของฝ้าใหม่เพื่อการอยู่อาศัยที่โปร่งสบายขึ้น ในขณะที่เจ้าของบ้านเองก็อยากปรับพื้นที่ภายในบ้านทั้งชั้นบนและชั้นล่างให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันและอนาคตด้วย สถาปนิกจึงได้สำรวจโครงสร้างทั้งหมดร่วมกับวิศวกร ออกแบบฟังก์ชันการใช้งาน และวางแผนการรีโนเวตบ้านหลังนี้ โดยเปลี่ยนโครงสร้างจากเดิมที่เป็นโครงสร้างเสา คาน คอนกรีตสำเร็จรูปให้เป็นระบบโครงสร้างเหล็กที่วางอยู่บนระดับคานพื้นชั้นล่างและระบบโครงสร้างฐานรากเดิม เพื่อความสะดวกในการปรับลดขยายห้องหรือการเชื่อมต่อระหว่างห้องต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มความสูงของฝ้าเพดานทั้งสองชั้นด้วย
เจ้าของบ้านชอบโทนสีดำและมีความทันสมัย บ้านจึงถูกออกแบบมาในสไตล์โมเดิร์นที่มีความเรียบง่ายชัดเจนและใช้สีเทา เทาเข้ม และดำ หลังคาเลือกใช้โครงสร้างง่ายไม่ซับซ้อนเป็นหลังคาชิ้นเดียวคลุมบ้านทั้งหลัง โดยให้มีความลาดเอียงของหลังคาน้อยที่สุด เพื่อให้เห็นเพียงขอบหลังคาเส้นนอนซ่อนส่วนที่เป็นวัสดุมุงหลังคาไว้
ภาพ: ออกแบบหลังคาชิ้นเดียวที่มีโครงสร้างง่ายไม่ซับซ้อน
ภาพ: ดีไซน์หลังคาที่มีความลาดเอียงน้อยมองไม่เห็นสันหลังคาเห็นเพียงแนวขอบหลังคาให้บ้านดูโมเดิร์น
.
การออกแบบปรับปรุงพื้นที่ภายในบ้านนอกจากเพิ่มความสูงของฝ้าเพดานเพื่อให้บ้านดูโปร่งกว้างขึ้นแล้ว ยังเพิ่มช่องแสงเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในบ้านได้มากขึ้นด้วย อย่างบริเวณห้องรับแขก ห้องทานอาหาร ใช้เป็นประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ นอกจากเพิ่มแสงสว่างและเห็นบรรยากาศภายนอกที่เป็นสวนต้นไม้สีเขียวสบายตาแล้ว ยังเปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก บริเวณโถงบันไดเพิ่มช่องกระจกให้แสงสาดส่องลงมาถึง ตอนกลางวันบ้านสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟเหมือนเมื่อก่อน
ภาพ: ภายในบ้านดูโปร่งโล่งสบายตาและสว่างจากแสงภายนอก
ภาพ: เพิ่มช่องแสงที่โถงบันไดทำให้บ้านสว่างขึ้น
.
พื้นที่ใช้สอยถูกปรับใหม่ตามต้องการ อย่างห้องพระก็ย้ายจากชั้นบนที่เป็นห้องขนาดเล็กมาไว้ชั้นล่างที่ออกแบบมาเพื่อเป็นห้องพระโดยเฉพาะอยู่ตำแหน่งทิศเหนือที่อากาศดีค่อนข้างสงบและเป็นชั้นเดียว ห้องครัวขยายให้ใหญ่ขึ้นเพราะเจ้าของบ้านและลูกชายชอบทำอาหาร มีสัดส่วนการใช้งานที่ชัดเจน มีห้องเก็บเครื่องครัว ของเย็น ของแห้ง และสามารถเดินเชื่อมต่อไปยังห้องรับประทานอาหาร ส่วนเซอร์วิส ห้องแม่บ้าน และหน้าบ้านได้สะดวก อีกห้องที่เป็นถูกออกแบบเป็นพิเศษสำหรับเจ้าของบ้านคือห้องแมว โดยกั้นสัดส่วนเป็นห้องที่มีพื้นที่ 2 ชั้นเชื่อมต่อจากชั้นล่างไปห้องนอนเจ้าของบ้านได้เลย ทำให้ดูแลและทำความสะอาดง่าย
ภาพ: ห้องพระ
ภาพ: ห้องครัวขนาดใหญ่มีสัดส่วนการใช้งานที่ชัดเจน
ภาพ: ห้องแมวชั้นล่างที่เชื่อมไปยังชั้นบนได้
.
สำหรับห้องนอน ด้วยความที่เจ้าของบ้านและลูกชายชอบสีดำทั้งคู่ แต่ซินแสให้ใช้สีอ่อนเป็นหลัก ห้องนอนเจ้าของบ้านจึงเลือกใช้โทนสีสว่างอย่างสีเบจและเทาอ่อน โดยมีสีดำตกแต่งบางส่วน ส่วนห้องนอนของลูกชายยังคงใช้สีดำได้ตามที่ชอบ ทั้งสองห้องนอนออกแบบให้มี Walk-in Closet เชื่อมต่อไปยังห้องน้ำในห้อง
ภาพ: ห้องนอนเจ้าของบ้านโทนสีสว่าง
ภาพ: Walk-in Closet ในห้องนอนเจ้าของบ้าน
ภาพ: ห้องนอนลูกชายโทนสีดำ
ภาพ: ห้องน้ำในห้องนอนลูกชาย
.
การเลือกใช้วัสดุ
หลังคาเลือกใช้เป็นหลังคาเมทัลชีทเพราะมีความบาง สามารถทำความลาดเอียงได้น้อยที่สุด น้ำหนักเบา โครงสร้างไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตอบโจทย์กับงานดีไซน์ของบ้านหลังนี้ที่ต้องการให้เห็นหลังคาน้อยที่สุด
ฝ้าชายคาเลือกใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์เพราะวัสดุมีความทนทานต่อทุกสภาวะอากาศ มีทั้งแบบเซาะร่องสลับกับแบบรูระบายอากาศที่ดีไซน์แพทเทิร์นตามต้องการ ช่วยระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี
บริเวณด้านหน้าทำระเบียงบ้านต่อเนื่องจากห้องรับแขก คลุมด้วยหลังคาแผ่นโปร่งแสงโดยมีระแนงไม้เทียมช่วยกรองแสง แต่งเสาเหล็ก ด้วยไม้ WPC ลวดลายเสมือนไม้จริง ช่วยลดทอนความแข็งของสีเทาดำให้รู้สึกอบอุ่นสบายตาขึ้น
ภายในบ้านเลือกใช้พื้นไม้ SPCเป็นส่วนใหญ่ สถาปนิกพิถีพิถันเลือกลวดลายให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ตกแต่งผนังด้วยแผ่นหินธรรมชาติและกระเบื้องลายหินโทนสีเทาดำ ทำให้บ้านดูทันสมัยมีดีไซน์เข้ากันกับสไตล์ที่เจ้าของบ้านชอบ
ภาพ: หลังคาเมทัลชีทให้ความลาดเอียงได้น้อยที่สุด
ภาพ: ฝ้าชายคาเลือกใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์แบบเซาะร่องและแบบรูระบายอากาศ
ภาพ: วัสดุแต่งเสาและระแนงไม้เลือกใช้ไม้ WPC เพราะให้สีธรรมชาติและคงทนทุกสภาพอากาศ
ภาพ: ห้องรับแขกเลือกใช้พื้นไม้ SPC และตกแต่งผนังด้วยแผ่นหินธรรมชาติ
.
การรีโนเวตบ้านหลังนี้เริ่มต้นจากปัญหาหลังคารั่วเท่านั้น แต่ลงเอยด้วยการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่เพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยอย่างแท้จริง และเพราะเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่เจ้าของบ้านจะได้ใช้ชีวิตในบ้านอย่างคุ้มค่า การตัดสินใจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิกและวิศวกรจึงทำให้ได้บ้านหลังนี้ที่สมบูรณ์แบบตามความต้องการ
.
.
.
ขอขอบคุณ
เจ้าของบ้าน: คุณมณทิรา วงศ์สวัสดิ์
สถาปนิก: Compose Architect l คุณณัฐพงษ์ พวงเพ็ชร์
Design Connext คอมมูนิตี้แหล่งรวมสถาปนิก/นักออกแบบ ที่ช่วยเชื่อมต่อทุกองศาของงานออกแบบ
.
.
อ่านเพิ่มเติม: รีโนเวตบ้านเก่า เล่าเรื่องใหม่ ด้วยสเปซและแสงเงา
อ่านเพิ่มเติม: รีโนเวตบ้านเก่า 50 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล
คอตโต้
GP 40x40 ฮาร์โมไนซ์สโตนเทาเข้ม(HYG)R11PM
312.00 บาท / กล่อง
HOME CHOICE
กระเบื้องปูพื้น HOME CHOICE BRUNEI GREY ขนาด 60X60*A
129.14 บาท / ชิ้น179.00 บาท
THAISUN
ไม้ระแนงแบบตัน THAISUN 2X300X5 ซม. น้ำตาลชอคโกแลต
469.00 บาท / ชิ้น
เอสซีจี
ฝ้า สมาร์ทบอร์ด เอสซีจี ระบายอากาศแคปซูล – โพรเทคชั่น
67.00 - 81.60 บาท / ชิ้น
Click & Collect รับสินค้าเองได้