วิธีแก้ปัญหาดินรอบบ้านทรุดตัวจนต่ำกว่าระดับคานบ้าน เกิดเป็นโพรงใต้บ้านสร้างที่ดูไม่สวยงาม ทั้งยังต้องคอยระแวดระวังว่าจะมีสัตว์อะไรเข้าไปอยู่หรือไม่ แล้วเราจะมีวิธีปิดโพรงใต้บ้านอย่างไรได้บ้าง
ปัญหาโพรงใต้บ้านหรือพื้นดินรอบบ้านทรุดนั้น เป็นปัญหาที่หลายบ้านมักประสบพบเจอ เมื่อเทียบกับตัวบ้านเองซึ่งมีเสาเข็มรองรับ จะเห็นว่าพื้นดินจะทรุดตัวเร็วกว่า เพราะโดยธรรมชาติพื้นดินจะมีการทรุดตัวอยู่เสมอ ซึ่งหากทรุดตัวเร็วมากจนระดับพื้นดินรอบบ้านต่ำกว่าระดับคานบ้าน จะทำให้เกิดโพรงหรือช่องโหว่ใต้บ้าน ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างบ้านแต่อย่างใด แต่ก็ดูไม่สวยงาม อีกทั้งยังน่าระแวดระวังว่าอาจเป็นช่องทางให้สัตว์ต่างๆ มุดเข้าไปหลบซ่อนตัว และบางครั้งอาจโผล่มาสร้างความตกใจหรือทำอันตรายสมาชิกในบ้านได้ จึงควรหาวิธีแก้ไขปิดโพรงให้เรียบร้อยจะดีกว่า
สนใจบริการซ่อมแซม เติมเติม ปิดโพรงใต้บ้าน ทุกรูปแบบ คลิกที่นี่
กรณีดินรอบบ้านทรุดตัวไม่มาก มีแนวโน้มจะทรุดตัวต่อ แนะนำให้ปิดโพรงแบบชั่วคราวก่อน
กรณีที่พื้นดินรอบบ้านทรุดตัวไม่มากหรือทรุดประมาณ 10-20 ซม. โดยพื้นที่โดยรอบบ้านเป็นสนามหญ้าหรือเป็นพื้นดิน แนะนำให้ปิดโพรงใต้บ้านแบบชั่วคราวไปก่อน เช่น วางกระถางต้นไม้ทรงเหลี่ยมมาเรียงเพื่อบังโพรง ก่ออิฐปิดทับโดยใช้แผ่นโฟมคั่นระหว่างก้อนอิฐกับตัวบ้าน วางอิฐบล็อกหรือเลือกใช้ขอบคันหินเพื่อปิดโพรงใต้บ้าน ซึ่งการเลือกใช้ขอบคันหิน สามารถสร้างลูกเล่นได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทาสีตามที่เราชอบ หรือหากมีพื้นที่มากพอก็สามารถวางขอบคันหิน 2 แถวล้อมเป็นกระบะใส่ดินปลูกต้นไม้เล็กๆ เพิ่มความสวยงามสดชื่นรอบบ้านอีกด้วย สำหรับบ้านที่ดินทรุดไม่เกิน 13 ซม. แนะนำให้ใช้ขอบคันหินขนาดที่สูง 20 ซม. ส่วนพื้นดินรอบบ้านที่ทรุดไม่เกิน 23 ซม. แนะนำให้ใช้ขอบคันหินที่มีความสูง 30 ซม.
ภาพ: ตัวอย่างอาการพื้นดินรอบบ้านทรุดตัวไม่มาก
ภาพ: ก่ออิฐปิดโพรงใต้บ้าน กรณีดินยังทรุดไม่มาก และมีแนวโน้มทรุดต่อไปเรื่อยๆ
ภาพ: การวางขอบคันหินปิดโพรงใต้บ้าน และปลูกต้นไม้ประดับ
กรณีดินรอบบ้านทรุดมาก เกิดโพรงขนาดใหญ่แต่แทบไม่ทรุดต่อแล้ว แนะนำปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวร
การปิดโพรงใต้บ้านกรณีดินรอบบ้านทรุดตัวมาก ทรุดมานานจนเริ่มคงตัวแทบไม่ทรุดต่อแล้ว (ไม่เกิน 10 ซม. ใน 1 ปี) หรือบ้านที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถแก้ไขแบบถาวรได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น “การถมทรายและดิน” เพื่อปิดโพรงและปรับระดับพื้นดินตามต้องการ “การเติมเต็มโพรงใต้บ้านด้วย CPAC FillGood” หรือ “การปิดโพรงใต้บ้าน ด้วยวัสดุแผ่น” และเก็บพื้นที่หน้างานโดยรอบบ้านให้เรียบร้อย
- “การถมทรายและดิน” ทำได้โดยเททรายเป็นกองรอบบ้านแล้วฉีดทรายด้วยน้ำ เพื่อให้ทรายไหลเข้าใต้บ้านจนปิดปากโพรงสนิท ทรายจะช่วยกันดินรอบบ้านไม่ให้ไหลเข้าไปใต้บ้านได้ดี (น้ำหนักทรายประมาณ 1,500 กก./ลบ.ม.) จากนั้นก็สามารถถมดินโดยรอบ ตกแต่งพื้นที่หรือจัดสวนได้ตามต้องการ
- “การเติมเต็มปิดโพรงใต้บ้าน CPAC FillGood” คือการใช้วัสดุมวลเบาชนิดพิเศษของ CPAC ฉีดเข้าไปในโพรงใต้บ้านตามปริมาณที่คำนวณไว้หลังจากขั้นตอนเข้าสำรวจ วัสดุนี้มีน้ำหนักเบา มีคุณสมบัติไหลลื่นได้ดี เข้าถึงซอกมุมต่าง ๆ ในโพรงโดยไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง ท่อน้ำ หรือท่อน้ำยาปลวกแต่อย่างใด เพราะตัววัสดุจะอยู่บนดินที่ระดับความสูงประมาณท้องคานเท่านั้น ไม่ถึงระดับท่อน้ำหรือท่อน้ำยาปลวกซึ่งมักจะเดินเกาะอยู่ข้างคานด้านใน อีกทั้งน้ำหนักของวัสดุนี้ในกรณีที่เทหนา 10 ซม. จะหนักเพียง 50 กิโลกรัมต่อ ตร.ม. (500 กิโลกรัมต่อ ลบ.ม. หรือต่อ 1 คิว) หากมีบางส่วนเททับท่อหรือโครงสร้างจึงไม่มีผลกระทบใดๆ อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการสำรวจเพื่อประเมินปริมาณวัสดุที่ต้องใช้ หากมีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค ทางทีมวิศวกรจะแจ้งให้ทราบหรือให้ทำการแก้ไขก่อนเข้าดำเนินงาน
ภาพ: ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการติดตั้งวัสดุ FillGood เพื่อเติมเต็มโพรงใต้บ้าน ที่มีน้ำหนักเบา ไหลลื่นง่าย และ เติมเต็มได้ดี
ภาพ: ตัวอย่างบ้านที่มีโพรงใต้บ้าน ทั้งก่อนและหลังจากติดตั้งวัสดุ FillGood แล้ว
อ่านเพิ่มเติม: 11 ข้อสงสัยยอดฮิต…บริการเติมเต็มปิดโพรงใต้บ้าน FillGood
สนใจ บริการเติมเต็ม ปิดโพรงใต้บ้าน FillGood คลิก
- “การปิดโพรงใต้บ้านด้วยวัสดุแผ่น” กรณีรอบตำแหน่งโพรงเป็นพื้นดินซึ่งไม่ได้เทพื้นคอนกรีตทับ มีอีกวิธีที่สามารถปิดช่องโพรงให้มิดชิดได้ คือ การนำวัสดุแผ่นที่มีความคงทนแข็งแรง ยกตัวอย่างเช่น “แผ่นสมาร์ทบอร์ดแบบหนาพิเศษ” ซึ่งเป็นวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ มาเสียบให้ลึกลงไปในดินตามระดับที่เหมาะสมช่วยป้องกันดินสไลด์ในอนาคต และทำการยึดเข้ากับคานบ้านเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน โดยแผ่นสมาร์ทบอร์ดนี้ สามารถทาสีให้เข้ากันกับตัวบ้านตามต้องการได้
ภาพ: ตัวอย่างการปิดโพรงใต้บ้าน โดยใช้แผ่นสมาร์ทบอร์ด (Smart Board)
สนใจ บริการปิดโพรงด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ด คลิก
จะเห็นว่า เมื่อโพรงใต้บ้านเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมีวิธีปิดได้เช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับบ้านที่ยังไม่ได้สร้างหรืออยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างก็สามารถป้องกันปัญหานี้ได้ เช่น ทำครีบ ค.ส.ล. ต่อจากใต้ท้องคานลงมา วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ระดับพื้นชั้นล่างต่างจากระดับดินไม่เกิน 1 ม. หากเกินกว่านั้นให้ใช้วิธีก่อผนังกันดินใต้คาน (ผนังก่ออิฐฉาบปูน) โดยจะต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งเพื่อช่วยยึดผนังกับคานและเสาด้วย การป้องกันโดยวิธีเหล่านี้ จะช่วยชะลอเวลาและลดความยุ่งยากในการแก้ปัญหาโพรงใต้บ้านในอนาคตได้มาก (ทั้งนี้สำหรับบ้านที่เจอปัญหาพื้้นโรงจอดรถ ค.ส.ล. ทรุดแตกร้าวด้วย สามารถตามไปอ่านวิธีแก้ไขได้ที่นี่ คลิก )
ภาพ: สำหรับบ้านสร้างใหม่ สามารถเลือกทำครีบค.ส.ล. ต่อจากใต้ท้องคานลงมา
ภาพ: การก่อผนังกันดินใต้คาน สำหรับบ้านสร้างใหม่
Tip1: หากมีวัสดุปูทับหน้าพื้น แต่เป็นวัสดุที่รื้อออกได้ง่ายเช่นบล็อกคอนกรีต สามารถรื้อออก ถมทรายและดินให้ได้ระดับ จากนั้นเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนปูบล็อกเดิมกลับไป
Tip2: หากพื้นเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ที่อยู่ในสภาพดี ให้วางตะแกรงเหล็กแล้วเทคอนกรีตทับเพื่อเพิ่มระดับพื้นได้เลย (กรณีเพิ่มระดับเกิน 15 ซม. ให้ถมทรายปรับระดับก่อนเทคอนกรีต) จากนั้นจึงเลือกตกแต่งผิวหน้าตามใจชอบ เช่น คอนกรีตพิมพ์ลาย ปูบล็อกคอนกรีต ปูกระเบื้อง เป็นต้น แต่ถ้าหากพื้น ค.ส.ล. เดิมยุบเสียหายจนแตกร้าว ให้ทุบรื้อออก แล้วถมทรายให้ได้ระดับก่อนเทคอนกรีตอีกครั้ง หรือจะปรับสภาพดินเพื่อเปลี่ยนวิธีตกแต่ง เช่น ปูหญ้า วางบล็อกคอนกรีต เป็นต้น
Tip3: กรณีเทพื้น ค.ส.ล. ซึ่งไม่ใช่แค่พื้นทางเดินทั่วไป เช่น พื้นลานซักล้าง พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน อาจลงเสาเข็มสั้นแบบฐานเข็มปูพรมด้วยเพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวในอนาคต วิธีนี้มีข้อควรคำนึงคือ ใต้พื้นดินจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น อุปกรณ์งานระบบอย่างถังเก็บน้ำ ถังดักไขมัน เป็นต้น
ภาพ: การลงเสาเข็มสั้นแบบฐานเข็มปูพรมก่อนเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อช่วยลดการทรุดตัวของพื้นรอบบ้าน