ทบทวนความรู้เรื่องแอร์ฉบับเจ้าของบ้าน ผ่านบทสัมภาษณ์วิศวกร เพื่อให้เจ้าของบ้านเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงดูแลรักษาแอร์บ้านให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น
รู้จักกับเครื่องปรับอากาศฉบับแอร์บ้าน ก่อนเลือกซื้อ
1) ส่วนประกอบหลักๆ ของแอร์ที่เจ้าของบ้านควรรู้มีอะไรบ้าง ?
A: แอร์บ้านทั่วไปจะมีส่วนประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่
1.1) คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ทำหน้าที่ดูดอัดสารทำความเย็น
1.2) คอนเดนเซอร์ (Condenser) หรือเรียกอีกอย่างว่ารังผึ้งคอยล์ร้อน ทำหน้าที่ระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็น
1.3) แคปทิวบ์ (Capillary Tube) หรือ อิเล็กทรอนิกส์ เอ็กซ์แพนชั่น วาล์ว (Electronic Expansion Valve) หน้าที่ลดความดันของสารทำความเย็น
1.4) อีวาโพเรเตอร์ (Evaporator) หรือเรียกอีกอย่างว่ารังผึ้งคอยล์เย็น ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความร้อนในห้อง กับสารทำความเย็น
ภาพ: ส่วนประกอบหลักของแอร์บ้านทั่วไป
2) ชุดคอยล์เย็นในแอร์บ้าน มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ?
A: ชุดคอยล์เย็นที่ถามมาประกอบไปด้วย Evaporator หรือรังผึ้งคอยล์เย็น, มอเตอร์พัดลม, โบลเวอร์กรงกระรอก, แผงคอนโทรล, เซนเซอร์, แผ่นฟอก, แผ่นกรอง และบอดี้หรือโครงเครื่อง
3) ลูกค้าซื้อแอร์พร้อมติดตั้ง อุปกรณ์ติดตั้งมาตรฐานที่แถมมีอะไรบ้าง ?
A: สำหรับแอร์ของ Mitsubishi Heavy Duty ชุดติดตั้งมาตรฐานที่มีให้คือ ท่อสารทำความเย็น (ทองแดงพร้อมฉนวน), สายไฟมาตรฐาน มอก., เบรกเกอร์มาตรฐาน, รางครอบท่อ , ขายางรองคอยล์ร้อน, ท่อน้ำทิ้ง PVC ขนาด 3/8” สีเทา ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลจากผู้ขาย หรือดูรายละเอียดในหน้าเว็บไซต์สินค้าได้
4) Q: แอร์บ้านสามารถเดินท่อสารทำความเย็นได้ยาวสุดกี่เมตร ?
A: แอร์บ้านแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ระยะท่อสารทำความเย็นที่สามารถเดินได้จะไม่เท่ากัน แต่สำหรับแอร์ Mitsubishi Heavy Duty สามารถเดินท่อสารทำความเย็นได้ยาวสุดถึง 30 ม. ในรุ่นอินเวอร์เตอร์ 24,000 บีทียู (การเดินท่อสารทำความเย็นได้ในระยะไกล จะช่วยในเรื่องตำแหน่งการจัดวางให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ติดแอร์ห้องหน้าบ้าน แต่อยากเอาคอยล์ร้อนไปซ่อนหลังบ้าน เป็นต้น)
ภาพ: ตัวอย่างการเดินท่อสารทำความเย็นเชื่อมซึ่งเชื่อมกับคอยล์ร้อน
5) คอยล์ทองแดงกับคอยล์อะลูมิเนียมในแอร์บ้าน ต่างกันอย่างไร ?
A: คอยล์ทองแดงกับคอยล์อะลูมิเนียมในที่นี้หมายถึงท่อสารทำความเย็นบริเวณรังผึ้งคอยล์ร้อน ความแตกต่างจะอยู่ที่การดูแลรักษาและอายุการใช้งาน สมมติคอยล์เกิดรั่วและไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยน ถ้าเป็นคอยล์ทองแดง ช่างสามารถซ่อมอุดรอยรั่วด้วยวิธีการเชื่อมตามปกติได้ แต่ถ้าเป็นคอยล์อะลูมิเนียม การซ่อมจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษเพราะถ้าใช้ความร้อนไม่เหมาะสมจะยิ่งทำให้คอยล์รั่วหนักกว่าเดิม
6) แอร์รุ่นธรรมดา (Fix Speed) กับแอร์รุ่นอินเวอร์เตอร์ (Inverter) แตกต่างกันอย่างไร ?
A: แตกต่างกันที่โปรแกรมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ เมื่อเริ่มทำงานแอร์อินเวอร์เตอร์จะค่อยๆ เพิ่มความเร็วรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ตามที่ได้โปรแกรมไว้ เมื่ออุณหภูมิภายในห้องใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่รีโมท คอมเพรสเซอร์จะค่อยๆ ลดความเร็วรอบการทำงานลงแต่ไม่ถึงกับตัดการทำงาน ช่วยให้ประหยัดไฟและสามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ (เหมาะกับห้องที่ต้องการอุณหภูมิคงที่) โดยระบบจะประมวลผลเองว่าคอมเพรสเซอร์ต้องทำงานที่ความเร็วรอบเท่าไหร่ ส่วนแอร์รุ่นธรรมดานั้น คอมเพรสเซอร์จะเริ่มต้นทำงานที่ความเร็วรอบสูงสุด จึงทำให้ใช้กระแสไฟฟ้าสูง และเมื่อทำอุณหภูมิภายในห้องต่ำกว่าที่รีโมท 1 องศา คอมเพรสเซอร์จะหยุดทำงานประมาณ 3 - 5นาที และจะเริ่มทำงานใหม่อีกครั้ง ช่วงที่หยุดการทำงานจะทำให้อุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น บางครั้งทำให้รู้สึกร้อน (แอร์ธรรมดาจะราคาถูกและกินไฟมากกว่าแอร์อินเวอร์เตอร์)
7) แอร์รุ่นใดประหยัดไฟ จะสามารถรู้ได้อย่างไร ?
A: สามารถดูได้ที่ฉลากเบอร์ 5 ถ้าแอร์รุ่นใดมีฉลากเบอร์ 5 แปะอยู่ แปลว่าแอร์รุ่นนั้นประหยัดไฟตามมาตรฐานของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ฉลากเบอร์ 5 ของแอร์รุ่นใหม่ๆ จะมีดาวด้วย ดาวจะมีตั้งแต่ 1ดาว ถึง 3 ดาว ดาวยิ่งเยอะจะยิ่งประหยัดไฟมากขึ้น นอกจากดาวแล้ว อีกค่าที่บ่งบอกถึงความประหยัดไฟคือค่า SEER ที่อยู่บนฉลากเบอร์ 5 ตัวเลขยิ่งมากจะยิ่งประหยัดมาก
ภาพ: ตัวอย่างสติกเกอร์ฉลากเบอร์ 5 บนเครื่องแอร์ ที่ระบุประสิทธิภาพการประหยัดไฟระดับ 3 ดาว และค่า SEER ที่ 25.69 บีทียู/ชั่วโมง/วัตต์
8) ฉลากเบอร์ 5 ที่ว่านี้ รับรองโดยหน่วยงานใด ?
A: ฉลากเบอร์ 5 ที่อยู่บนแอร์ทุกเครื่อง การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ออกให้ ไม่สามารถจัดทำขึ้นมาเองได้ ถ้ามีบริษัทใดจัดทำขึ้นมาเอง มีความผิดถึงขั้นสั่งปิดโรงงาน
9) น้ำยาแอร์ R32 คืออะไร และมีข้อดีอย่างไร ?
A: ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ในอดีตน้ำยาแอร์ที่ใช้กันจะเป็นน้ำยา R22 ซึ่งทำลายโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ มีผลทำให้โลกร้อนขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เป็นน้ำยา R410a ซึ่งมีค่าทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศเป็น 0 แต่ค่าที่ทำให้โลกร้อนยังสูงอยู่มาก ปัจจุบันก็เลยเปลี่ยนมาใช้น้ำยา R32 ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่ใช้อยู่ในแอร์รุ่นใหม่ๆ คุณสมบัติจะไม่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและมีค่าที่ทำให้โลกร้อนน้อยมากๆ
10) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแอร์ตัวไหนใช้น้ำยาอะไร และน้ำยาแอร์สามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ ?
A: น้ำยาแอร์จะระบุไว้ที่ Name Plate ของเครื่อง และน้ำยาแอร์ต่างชนิดกันจะไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เนื่องจากผู้ผลิตจะออกแบบโครงสร้างขดลวดและซีลยางภายในของคอมเพรสเซอร์มาไม่เหมือนกัน จึงใช้ทดแทนกันไม่ได้
ภาพ: ข้อมูลบน Name Plate ของเครื่องแอร์ที่ระบุถึงข้อมูลของน้ำยาแอร์ที่ใช้
การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ (สำหรับแอร์บ้าน)
11) การเลือกขนาดบีทียูของแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง จะมีวิธีการเลือกอย่างไร ?
A: การเลือกขนาดของแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง จะต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ห้องรับแขก คนที่ใช้งานมีหลายคน มีการเปิดทีวี และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อุปกรณ์เหล่านี้จะคายความร้อนอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องเลือกบีทียูของแอร์ที่สูงกว่าห้องนอนที่ขนาดเท่ากัน ยกตัวอย่างถ้าในตาราง ระบุว่า 9,000 บีทียู เหมาะกับห้องขนาด 9-12 ตารางเมตร หมายถึง ขนาดแอร์ 9,000 บีทียู เหมาะกับห้องรับแขกที่ขนาด 9-11 ตารางเมตร หรือห้องนอนที่ 11-12 ตารางเมตร เป็นต้น ทั้งนี้ เจ้าของบ้านอาจเช็คเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ Mitsubishi Heavy Duty Thailand ที่ลิงค์ https://mitsuheavythai.com/th/calculation.php จะมีโปรแกรมคำนวณตามรายละเอียดการใช้งาน ว่าเป็นห้องประเภทไหน บ้านแบบไหน เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด หรืออาคารพาณิชย์ เป็นต้น)
ภาพ: ตัวอย่างตารางแสดงเกณฑ์การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศอย่างง่าย
12) ห้องนั่งเล่นที่มีลักษณะเปิดโล่งติดโถงบันได แอร์จะทำงานหนักกว่าห้องทั่วไปหรือไม่ ?
A: แอร์จะทำงานหนักกว่าห้องทั่วไป เนื่องจากพื้นที่เปิดโล่งเปรียบเสมือนการเพิ่มขนาดของห้อง ทำให้แอร์พยายามทำงานให้สัมพันธ์กับขนาดห้อง
ภาพ: ตัวอย่างห้องนั่งเล่นติดโถงบันได ซึ่งแอร์จะต้องทำงานหนักกว่าเมื่อเทียบกับห้องนั่งเล่นแบบปิดที่มีขนาดเท่ากัน
13) ห้องที่มีขนาดใหญ่ ควรติดแอร์ตัวเดียวที่มีบีทียูเหมาะสมกับขนาดห้อง หรือติดแอร์ที่มีบีทียูลดลงครึ่งนึง จำนวน 2 ตัว ดี ?
A: สามารถเลือกได้ทั้ง 2 วิธี เพียงแต่ว่าถ้าเป็นกรณีที่ใช้แอร์ 2 ตัว ควรเปิดพร้อมกันทั้งสองตัว ไม่ควรเปิดเพียงตัวเดียวเพราะแอร์จะทำงานหนักจนเกินไป (วิธีนี้จะมีข้อดีถ้าหากแอร์ตัวใดตัวหนึ่งเสีย ก็ยังสามารถใช้แอร์อีกตัวได้)
14) เหตุใดตัวเลขขนาดบีทียูบนฉลากเบอร์ 5 กับตัวเลขที่อยู่ในตารางบีทียู จึงไม่เหมือนกัน เช่น ฉลากเบอร์ 5 ระบุว่า 12,276 บีทียู/ชั่วโมง แต่ในตารางระบุว่า 12,000 บีทียู/ชั่วโมง เป็นต้น ?
A: ตัวเลขที่ระบุบนฉลากเบอร์ 5 ของมิตซูบิชิ เฮฟวี่ ดิวตี้ (Mitsubishi Heavy Duty) ได้มาจากการทดสอบโดยการไฟฟ้า ซึ่งตัวเลขบีทียูที่ได้จะเป็นค่าที่ได้จากการทดสอบตามความเป็นจริงจะไม่มีการปัดเศษ ให้เป็นจำนวนเต็ม ในส่วนของตัวเลขที่อยู่ในตารางบีทียู เช่น 9,000 12,000 18,000และ 24,000 เป็นเพียงตัวเลขที่ได้มาจากการคำนวณของอเมริกาที่ใช้เรียกขนาดบีทียูเป็นตัน (1 ตัน = 12,000 บีทียู)
15) ห้องที่มีเพดานสูง 5 เมตร ควรติดแอร์ประเภทใด ?
A: อาจติดแอร์เพดานแบบแขวน แอร์ท่อลม แอร์แบบ 4 ทิศทาง แอร์ตู้ตั้ง หรือแอร์แบบติดผนัง (แต่ต้องติดต่ำลงมา) ที่แนะนำก็เป็นแอร์ประเภทตู้ตั้ง เพราะจะทำความเย็นในบริเวณที่ใช้งานจริงๆ
ภาพ: แอร์รูปแบบต่างๆ ได้แก่ แอร์ติดผนัง แอร์แบบแขวน แอร์ตู้ตั้ง แอร์ท่อลม และแอร์แบบ 4 ทิศทาง
ปัญหาและการดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน
16) ปัญหาเปิดแอร์แล้วแอร์มีกลิ่นเหม็นอับ เกิดจากสาเหตุอะไร ?
A: อาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
16.1) คอยล์เย็นสกปรก มีเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียไปเติบโตในคอยล์ เนื่องจากไม่ได้ล้างแอร์เป็นเวลานาน
16.2) ปลายท่อน้ำทิ้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำทิ้ง เช่น คลอง หรือท่อระบายน้ำ ส่งผลให้กลิ่นไม่พึงประสงค์บางส่วนถูกดูดเข้ามาขณะแอร์ทำงาน แนะนำให้แก้ไขโดยการย้ายตำแหน่งท่อน้ำทิ้ง
16.3) เกิดกลิ่นจากสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
16.4) มีสัตว์เข้าไปตายอยู่ในคอยล์เย็น เช่น หนู จิ้งจก เป็นต้น
เสริม แอร์บางรุ่นมีความสามารถในการลดปัญหากลิ่นอับได้ เช่น แอร์ Mitsubishi Heavy Duty จะมีฟังก์ชั่น Self Clean Operation หรือเรียกสั้นๆ ว่า โหมดคลีน ซึ่งโหมดคลีนจะเริ่มทำงานหลังจากที่เราปิดแอร์แล้ว โดยใบพัดของพัดลมคอยล์เย็นจะทำงานในรอบต่ำ เพื่อไล่ความชื้นในคอยล์เย็นเป็นเวลา 2 ชม. ส่งผลให้คอยล์เย็นไม่มีความชื้น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็นอับ (การทำงานในโหมดนี้กินไฟน้อยมาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟ แนะนำให้เปิดใช้โหมดคลีนอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นเหม็นอับ แต่หากแอร์เริ่มมีกลิ่นแล้วควรล้างแอร์เพื่อทำความสะอาดคอยล์เย็น
17) ห้องที่มีความชื้นมากจะส่งผลเสียกับแอร์หรือไม่ และการเปิดแอร์จะช่วยกำจัดความชื้นได้ไหม ?
A: ห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ห้องนอนที่ติดห้องน้ำ แอร์จะทำงานหนักกว่าห้องปกติ จึงควรปิดประตูห้องน้ำ เพื่อลดภาระการทำงานของแอร์ อย่างไรก็ดี หน้าที่ของแอร์คือ ทำความเย็นและควบคุมความชื้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายตัว ก็ถือว่าช่วยได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับแอร์บางรุ่น เช่น แอร์ Inverter ของ Mitsubishi Heavy Duty จะมี Humidity Sensor ที่ทำหน้าที่ตรวจจับความชื้นภายในห้อง หากตรวจพบว่าภายในห้องมีความชื้นสูงเกินค่าที่กำหนดไว้ เครื่องจะคำนวณ และปรับการทำงานอัตโนมัติ เพื่อให้ค่าความชื้นลดลงอยู่ในค่าที่กำหนดไว้ เป็นสาเหตุให้บางครั้งผู้ใช้งานไม่สามารถปรับตำแหน่งบานสวิงได้ เนื่องจากแอร์กำลังทำงานอยู่ในกระบวนการการลดความชื้น
ภาพ: ห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัวจะมีความชื้นสูง แอร์จึงทำงานหนักกว่าห้องนอนปกติที่มีขนาดเท่ากัน ควรปิดประตูห้องน้ำเพื่อลดภาระการทำงานของแอร์
18) ปัญหาน้ำยาแอร์รั่วเกิดจากสาเหตุใด สามารถแก้ไขได้อย่างไร ?
A: ปัญหาน้ำยาแอร์รั่วเกิดได้ 2 สาเหตุ คือ
18.1) เกิดจากการติดตั้ง โดยมักจะพบการรั่วบริเวณจุดเชื่อมต่อท่อน้ำยาระหว่างคอยล์เย็น และคอยล์ร้อน หรือที่เรียกว่า แฟร์ อาจเกิดได้จากการบานท่อน้ำยาไม่ดี ขันแฟร์ไม่แน่น หรือขันแน่นจนเกินไปส่งผลให้แฟร์แตกและเกิดการรั่วซึม
18.2) เกิดจากสภาพแวดล้อม โดยมักพบปัญหาคอยล์รั่วกับบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
ในการซ่อม ต้องเช็คหารอยรั่วและแก้ไขให้เรียบร้อยจึงค่อยเติมน้ำยาแอร์ เพราะถ้าเติมน้ำยาโดยที่ไม่ซ่อมจุดรั่ว น้ำยาแอร์ก็จะพร่องอีก
19) เจ้าของบ้านทั่วไป จะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดปัญหาน้ำยาแอร์รั่ว ?
A: อาการที่แสดงออกมาคือ แอร์ไม่เย็น และมีน้ำหยด บางเคสอาจมีน้ำแข็งกระเด็นออกมาทางช่องส่งลม
20) ปัญหาแอร์ไม่เย็นและมีน้ำหยด นอกจากน้ำยาแอร์รั่วแล้ว มีสาเหตุอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ?
A: บางครั้งอาการนี้อาจเกิดจากแอร์สกปรกไม่ได้ล้างเป็นเวลานาน หรือมีสิ่งสกปรกไปอุดตันที่บริเวณท่อน้ำทิ้ง ทำให้ระบายได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจเกิดจากห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ร้านเสริมสวย ที่มักจะพบปัญหาน้ำหยดหรือบางครั้งแอร์จะพ่นหมอกหรือไอน้ำออกมา
21) แอร์มีอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ ?
A: ถ้าเป็นแอร์ของMitsubishi Heavy Duty ก็จะมีแผ่นกรอง Nano Carbon Air Filter ซึ่งเป็นแผ่นกรองที่ใช้กรองฝุ่น PM 2.5 เจ้าของบ้านสามารถติดตั้งได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องกังวลว่า ติดแล้วจะไปขัดขวางแรงลมทำให้เพิ่มภาระการทำงานของแอร์ เพราะจากการทดสอบที่ทุกระดับความเร็วลม พบว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 5% ซึ่งถือว่าไม่มีผลต่อการใช้งาน
ภาพ: แผ่นกรอง Nano Carbon Air Filter ซึ่งเป็นแผ่นกรองที่ใช้กรองฝุ่น PM2.5 ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถนำไปติดตั้งกับแอร์บ้านได้ด้วยตัวเอง
22) เจ้าของบ้านควรดูแลรักษาแอร์อย่างไรบ้าง ?
A: แนะนำให้ใช้บริการช่างล้างแอร์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้แอร์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่กินไฟจนเกินไป โดยระหว่างนั้นทุกๆ 1 เดือน แนะนำให้เจ้าของบ้านถอดเฉพาะแผ่นตะแกรงออกมาล้าง เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของแอร์
ภาพ: แผ่นตะแกรงที่เจ้าของบ้านสามารถถอดออกจากแอร์ นำมาล้างได้ด้วยตัวเอง
ขอบคุณที่มาข้อมูล
ทีมวิศวกรแผนกเทคนิค จาก Mitsubishi Heavy Duty