ไม่ต้องไปนอนเรียวกังถึงเกียวโต ก็สามารถพักผ่อนในบ้านเก๋ ๆ สไตล์มูจิ ด้วย 6 ไอเดียดีไซน์บ้านแบบญี่ปุ่น
เชื่อว่าหลายท่านต้องเคยนึกอยากอยู่บ้านสไตล์ญี่ปุ่น ด้วยบรรยากาศสงบเรียบง่ายและเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่อาจจะยังนึกไม่ออกว่าองค์ประกอบแต่ละส่วนของบ้านญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง บทความนี้จึงขอช่วยถอดรหัสเอกลักษณ์บ้านญี่ปุ่นเป็นไอเดียง่าย ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในบ้านเรา
1. ทำพื้นต่างระดับที่โถงทางเข้าบ้าน
บ้านญี่ปุ่นจะมีเอกลักษณ์ตั้งแต่ส่วนนี้เลย คือมีการทำระดับพื้นให้ต่างกัน ระหว่างพื้นหน้าประตูที่เชื่อมกับภายนอก และพื้นเรือนที่เชื่อมกับภายใน โดยวัสดุปูพื้นจะต่างกันด้วย เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่อย่างชัดเจน สื่อความหมายว่า ‘กลับถึงบ้านแล้วนะ’
หากเป็นบ้านญี่ปุ่นดั้งเดิม พื้นในตัวเรือนมักปูด้วยเสื่อตาตามิหรือไม้ ซึ่งปัจจุบันสามารถประยุกต์ใช้ลามิเนตลายไม้ หรือวัสดุเลียนแบบลายไม้อื่น ๆ แทนได้ ส่วนพื้นที่หน้าประตูมักจะเป็นหิน กระเบื้อง หรือวัสดุทนน้ำที่ทำความสะอาดได้ง่าย
ภาพ: โถงทางเข้าบ้านญี่ปุ่น
สนใจ วัสดุตกแต่งปูพื้นภายใน พร้อมบริการติดตั้ง คลิก
2. เลือกใช้ประตูหน้าต่างบานเลื่อน
พบเห็นได้บ่อยในบ้านญี่ปุ่น โดยเฉพาะบ้านเก่าแก่ที่ยังมีการใช้ประตูบานเลื่อนไม้กรุกระดาษที่เรียกว่าโชจิอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย จึงพยายามใช้องค์ประกอบที่มีน้ำหนักเบาเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี บ้านญี่ปุ่นยุคใหม่ไม่ได้ใช้บานโชจิเป็นหลักแล้ว แต่บานเลื่อนยังคงเป็นที่นิยม เพราะสามารถใช้ในพื้นที่จำกัดได้ดี
ภาพ: ประตูโชจิแบบดั้งเดิม
ภาพ: ประตูบานเลื่อนกั้นห้องในบ้านญี่ปุ่นสมัยใหม่
สินค้า ประตู หน้าต่าง และอุปกรณ์ คลิก
3. เลือกโทนสีอบอุ่นตามวัสดุธรรมชาติ
วัสดุธรรมชาติคือใจความสำคัญ แต่บ้านญี่ปุ่นสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องทำโครงสร้างไม้ทั้งหลังเหมือนในอดีตแล้ว แต่ยังคงมีกลิ่นอายเรียบง่ายที่สะท้อนถึงกันอยู่ โทนสีภายในส่วนมากนิยมยึดจากวัสดุตามธรรมชาติที่ค่อนข้างอบอุ่น เช่น ไม้ หิน กระดาษโชจิ และอาจมีการใช้โทนสีพาสเทลในการตกแต่งภายในเพิ่มเติม ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในชุดถ้วยกาต่าง ๆ
ภาพ: โทนสีตกแต่งภายในแนวพาสเทล
ภาพ: เฉดสีเครื่องปั้นดินเผาและกระเบื้องเคลือบ
4. เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางได้อย่างยืดหยุ่น หรือออกแบบช่องหน้าต่างให้ใกล้เคียงระดับสายตายามนั่งพื้น
พฤติกรรมการใช้ชีวิตภายในบ้านของคนญี่ปุ่นนั้นผูกพันกับพื้นเป็นอย่างมาก ทั้งการนั่งบนเสื่อตาตามิ นอนบนฟูก (ฟูตอง) หรือกินอาหารแบบนั่งพื้นกับโต๊ะพับญี่ปุ่น (โต๊ะโคเท็ตสึ) เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ในบ้านญี่ปุ่นจะมีไม่เยอะนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องเรือนที่พับเก็บได้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานพื้นที่ นอกเหนือจากเรื่องเฟอร์นิเจอร์ บ้านญี่ปุ่นบางหลังยังมีการออกแแบบช่องหน้าต่างให้พอดีกับระดับสายตายามนั่งบนพื้น
หากต้องการนำกลิ่นอายส่วนนี้มาประยุกต์ใช้กับบ้านเรา ต้องแน่ใจว่าเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ชีวิตหรือไม่ หากไม่ได้มีปัญหาเรื่องขนาดพื้นที่บ้าน แค่เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีระดับสายตาใกล้เคียงกับการนั่งพื้นก็เพียงพอ ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยคือการยกฐานพื้นขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อวางฟูกนอน รวมถึงการใช้โซฟาและเตียงทรงเตี้ยเพื่อรักษาระดับสายตา
ภาพ: ไลฟ์สไตล์บนพื้นเรือน กับการใช้งานเฟอร์นิเจอร์ที่มีความยืดหยุ่นต่อพื้นที่สูง
ภาพ: โซฟาทรงเตี้ยในห้องนั่งเล่น
ภาพ: เตียงนอนแบบยกฐานเตี้ย
5. ทำระเบียงทางเดินรอบบ้าน
อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ของญี่ปุ่นมักมีระเบียงไม้รอบบ้าน ซึ่งเป็นสเปซกึ่งกลางที่กั้นระหว่างภายในและภายนอก และยังเป็นทางเดินที่เชื่อมพื้นที่ส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในบ้านยุคใหม่ที่มีขนาดเล็กลงอาจไม่มีพื้นที่พอจะทำระเบียงรอบบ้าน จึงมีการเลือกยื่นระเบียงเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็น เช่น ห้องนั่งเล่นที่อยู่ติดกับสวน
ภาพ: ระเบียงบ้านสไตล์ญี่ปุ่น
สนใจ สินค้าหลากสไตล์ เพื่อพื้นภายนอก พร้อมบริการติดตั้ง คลิก
6. จัดสวนญี่ปุ่น
หากกล่าวถึงหัวข้อนี้ หลายท่านอาจจะนึกถึงสวนกรวดหรือสวนเซน (Zen) เนื่องจากเป็นจุดเด่นที่ชัดเจนในสถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในวัดวาอาราม เพราะเป็นสวนที่มีความหมายเชิงปริศนาธรรม
แต่สวนอีกแบบที่แพร่หลายญี่ปุ่นไม่แพ้กันคือ สวนสไตล์พิคเชอะเรสค์ (Picturesque Garden) ที่นำธรรมชาติมาจัดสรรให้งดงามกว่าธรรมชาติจริง ๆ พูดได้ว่าแม้แต่ตะไคร่น้ำยังอาจถูกออกแบบมาเลยทีเดียว สวนแบบนี้เป็นที่นิยมมากในบ้านญี่ปุ่น เพราะให้ความร่มรื่นสบายตา และนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองร้อนชื้นอย่างบ้านเราได้ดี โดยสามารถผสมผสานกับสวนเซนในบางส่วนได้
ภาพ: สวนกรวดสไตล์เซน (Zen)
ภาพ: สวนญี่ปุ่นแบบ Picturesque
ภาพ: ตัวอย่างรายละเอียดตกแต่งในสวนญี่ปุ่น
แม้เราจะไม่สามารถถอดองค์ประกอบบ้านสไตล์ญี่ปุ่นมาใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากที่ตั้งและบริบทต่างกัน แต่ 6 ไอเดียด้านบนถือเป็นวิธีง่าย ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ ใครชื่นชอบเสน่ห์บ้านญี่ปุ่นก็ลองนำไปผสมผสานดู ไม่แน่ว่าอาจจะถูกใจกว่าบ้านที่ญี่ปุ่นจริง ๆ ก็ได้