วิธีป้องกัน และกำจัดยุงรวมถึงแหล่งเพาะพันธุ์ตามจุดต่าง ๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้านที่สามารถทำได้ไม่ยาก เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันโรคที่มาจากยุง
ยุง เป็นพาหะนำโรคหลากชนิดมาสู่คน บางโรคมีความร้ายแรงจนถึงชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน สำหรับในประเทศไทยของเราพบว่ามียุงอยู่ 4 สายพันธุ์หลักๆ คือ ยุงก้นปล่อง ยุงลาย ยุงเสือหรือยุงลายเสือ และยุงรำคาญ โดยยุงแต่ละสายพันธุ์เป็นพาหะนำโรคหลากหลายที่แตกต่างกัน ดังนี้
ยุงก้นปล่อง: ไข้ป่า หรือโรคไข้มาเลเรีย
ยุงลาย: โรคไข้เลือดออก โรคชิกุนคุนยา และไข้สมองอักเสบ
ยุงเสือ หรือยุงลายเสือ: โรคเท้าช้าง
ยุงรำคาญ: ไวรัสไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้าง
ภาพ: ลูกน้ำ ตัวอ่อนของยุง สำหรับยุงก้นปล่องจะไข่ไว้ในน้ำสะอาดที่มีการเคลื่อนไหว ส่วนยุงประเภทอื่น ๆ จะไข่ในภาชนะที่เป็นน้ำขัง-น้ำนิ่ง
เพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ และกำจัดยุงที่โตเต็มวัย เรามี 6 วิธีที่ช่วยกันยุงในบ้านและนอกบ้านมาแนะนำ เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะ ผู้ที่แพ้ยุง และเด็กเล็ก ๆ ในบ้าน
1. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งภายในและภายนอกบ้าน
จุดเสี่ยงที่ยุงมักไปวางไข่ทั้งภายในและภายนอกบ้านไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์-ทาวน์โฮม หรือคอนโดก็อาจมีพื้นที่ที่ยุงสามารถไปเพาะพันธุ์ได้ดังนี้
ภายนอกบ้าน: จานรองกระถางต้นไม้ อ่างบัว แจกัน น้ำพุเทียม ล้อยางรถยนต์ ฯลฯ
ภายในบ้าน: อ่างน้ำ แจกันดอกไม้ แจกันหิ้งพระ จานรองขาตู้กับข้าว หรือภาชนะที่บรรจุน้ำนิ่งต่างๆ
เจ้าของบ้านควรหมั่นเทน้ำทิ้ง คว่ำภาชนะ หรือใส่เกลือ ผงซักฟอก หรือน้ำส้มสายชูผสมลงในน้ำเพื่อกำจัดตัวอ่อน ก่อนที่จะโตเต็มวัย จนบินมาดูดเลือดเราหรือสมาชิกในบ้านได้
2. เลือกประตูหน้าต่างที่มีมุ้งลวด ป้องกันยุง
ป้องกันอีกขั้นด้วยการเลือกใช้ประตูหน้าต่างที่มีมุ้งลวด หรือติดตั้งมุ้งลวดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงบินเข้ามาในบ้านเรา ทั้งยังทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีระหว่างภายในและภายนอก ช่วยลดความอบอ้าวอับชื้นภายในบ้านได้ อย่างไรก็ดี ควรหมั่นทำความสะอาดมุ้งลวดเป็นประจำด้วยเช่นกัน เพราะฝุ่นที่เกาะอยู่มากมายจะทำให้อากาศถ่ายเทได้น้อยลง และยังเป็นที่สะสมเชื้อโรคต่าง ๆ อีกด้วย
3. ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท โดยเฉพาะเวลาช่วงเย็น-พลบค่ำ
ยุงหลายประเภทชอบออกหากินช่วงเย็นๆ พลบค่ำ จนถึงเช้าตรู่ หมั่นปิดประตูหน้าต่าง (หรือมุ้งลวด) ให้มิดชิด (ตลอดทั้งวันได้ยิ่งดี) และลดการเข้า-ออก หรือเปิดปิดประตูหน้าต่างตั้งแต่ช่วงเย็นเป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงที่ยุงจะเล็ดลอดเข้ามาในบ้าน
4. จุดยากันยุง น้ำมันหอมระเหย และทาโลชั่นป้องกันยุง
ถ้าต้องไปอยู่ในที่มียุงชุกชุม ควรจุดยากันยุง หรือเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยป้องกันยุง สำหรับผู้ที่แพ้ยุงหรือเด็กเล็ก ควรทาโลชั่นหรือฉีดสเปรย์ป้องกันยุงอีกชั้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะโดนยุงกัด
5. จัดบ้านให้สว่างและปลอดโปร่ง ลดพื้นที่มืดยุงชุกชุม
พื้นที่มืดๆ เป็นบริเวณที่ยุงชอบบินไปเกาะ โดยเฉพาะที่ชั้นวางรองเท้า กล่องเปล่าที่วางอยู่ตามมุมห้อง มุมห้องน้ำ ราวแขวนผ้า หรือตามซอกชั้นวางต่างๆ พยายามจัดบ้านโล่ง ลดมุมอับ เพิ่มแสงสว่าง ไม่วางของกองสุมกัน และทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี จะช่วยลดปริมาณยุงในบ้านเราได้
Tips: เราสามารถทำน้ำยากำจัดยุงเองง่ายๆ โดยการผสมแชมพู สบู่เหลว หรือน้ำยาล้างจาน ในอัตราส่วน 1 ส่วน ต่อน้ำ 4 ส่วน แล้วคนเบาๆ อย่าให้เกิดฟอง เทใส่ลงในกระบอกฉีดน้ำ เพื่อนำไปฉีดที่ยุงโดยตรง หรือบริเวณมุมอับมืดที่เรามักเห็นยุงไปเกาะ ยุงจะตายภายใน 10 – 20 วินาที
6. เปิดใช้งานเครื่องดักยุง
ด้วยความร้อนและสีไฟที่ล่อตาล่อใจของเครื่องดักยุง ยุงจะบินเข้าไปและโดนพัดลมดูดลงไปติดกับดักด้านล่าง ออกมาไม่ได้ สามารถวางได้หลายจุดทั้งภายนอกและภายในบ้าน โดยวางในที่มืดจะเห็นผลได้ดีกว่า หากวางภายนอกบ้านควรวางในบริเวณที่ห่างไกลจากทางเข้าบ้าน เพื่อลดโอกาสที่ยุงจะแอบบินเข้าบ้านตอนเราเปิดประตู