ทำความรู้จักกับโคมไฟประเภทต่างๆ ทั้งโคมไฟที่ให้แสงสว่างในภาพรวม โคมไฟให้แสงเฉพาะจุด โคมไฟตกแต่งเพื่อความสวยงาม โคมไฟติดตั้งในเฟอร์นิเจอร์ และโคมไฟภายนอกบ้าน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้
แสงสว่างภายในบ้านมีทั้งแสงสว่างที่เกิดจากแสงธรรมชาติ รวมทั้งแสงสว่างที่เกิดจากดวงโคมเพื่อเพิ่มแสงสว่างทั้งภายในและภายนอกบ้านยามที่แสงธรรมชาติไม่เพียงพอ โคมไฟช่วยเพิ่มความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยในการใช้งานพื้นที่ต่างๆ และบางครั้งยังเปรียบเสมือนของตกแต่งภายในซึ่งส่งเสริมเอกลักษณ์บ่งบอกสไตล์ ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ให้กับบ้านได้อีกด้วย ทั้งนี้โคมไฟที่ใช้ติดตั้งและตกแต่งสำหรับบ้านนั้นแบ่งได้หลายประเภท ซึ่งเจ้าของบ้านควรทราบเพื่อเลือกใช้ได้เหมาะสม
ภาพ: ห้องพักผ่อนที่มีการใช้โคมแขวนทำจากวัสดุธรรมชาติ รวมถึงโคมตั้งพื้นเพื่อให้แสงสว่างแก่ห้อง ช่วยเพิ่มบรรยากาศผ่อนคลายในการอยู่อาศัย
ภาพ: ส่วนเตรียมอาหารที่มีการใช้โคมแขวนเพื่อให้แสงสว่างแก่เคาน์เตอร์กลางทำให้เกิดเส้นสายที่น่าสนใจ ทั้งยังช่วยเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่ใช้สอย
1) โคมไฟให้แสงในพื้นที่โดยรวม (General lighting)
เพื่อให้ความสว่างในพื้นที่ทั่วไปของบ้าน ได้แก่
โคมไฟฝังฝ้าเพดาน (Downlight) ให้แสงสว่างแบบทั่วไป และช่วยให้แสงกระจายไปในพื้นที่ได้สม่ำเสมอ แสงที่ได้จะเป็นแสงที่ส่องลงมาให้ความสว่างกับพื้นที่โดยตรง ตัวโคมมีทั้งแบบธรรมดาและแบบปรับมุมได้ ใช้กับห้องทั่วไปภายในบ้าน การติดตั้งควรมีพื้นที่เหนือฝ้าเพดานที่เพียงพอกับขนาดความลึกของโคม
ภาพ: โคมฝังฝ้าเพดานแบบไม่ปรับมุม (บนซ้าย) โคมฝังฝ้าเพดานแบบไม่ปรับมุมมีกระจกปิดหน้าโคมเพื่อกันความชื้น (บนกลาง) โคมฝังฝ้าเพดานแบบปรับมุมได้ (บนขวา) และการใช้โคมไฟฝังฝ้าเพดานในการให้แสงทั่วไปภายในห้อง (ล่าง)
โคมไฟติดตั้งบนฝ้าเพดาน (Surface Downlight) เป็นโคมไฟที่มีรูปแบบเป็นสี่เหลี่ยมหรือทรงกระบอก มีระบบโคมเหมือนโคมไฟฝังฝ้าเพดาน แต่ติดตั้งบริเวณฝ้าเพดานได้โดยไม่จำเป็นต้องเจาะฝ้า ใช้กับห้องทั่วไปภายในบ้าน สามารถใช้เพื่อความสวยงาม หรือใช้ในกรณีที่พื้นที่เหนือฝ้าเพดานลึกไม่พอสำหรับติดตั้งโคมฝังฝ้าเพดาน หรือต้องการติดตั้งดวงโคมเพื่อโชว์งานระบบ เช่น บ้านที่ตกแต่งสไตล์ลอฟต์
ภาพซ้าย : โคมไฟฝ้าเพดานติดตั้งภายในห้องเพื่อให้แสงสว่างและเพิ่มความสวยงามให้กับห้อง
ภาพบน : โคมไฟติดตั้งบนฝ้าเพดานมีทั้งแบบไม่ปรับมุมและปรับมุมได้เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ภาพล่าง : โคมไฟฝ้าเพดานติดตั้งเพื่อให้แสงสว่างทั่วไปภายในห้อง สีกลมกลืนไปกับฝ้าเพดาน
โคมไฟฝ้าเพดานกลม หรือในท้องตลาดเรียกโคมไฟซาลาเปา (Ceiling Lamp) ใช้กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอด LED แบบกลม ตัวฝาโคมมีทั้งทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยม นิยมใช้เพราะราคาไม่แพง ติดตั้งง่าย รวมถึงสามารถซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงได้สะดวก ปัจจุบันสามารถเลือกใช้เป็นหลอดไฟ Led ที่สามารถเปลี่ยนสีของแสงได้เมื่อกดสวิตช์ไฟ ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศภายในห้องได้ดียิ่งขึ้น
ภาพ: ห้องที่ติดตั้งโคมไฟฝ้าเพดานกลมกลางห้องเพื่อให้แสงสว่างทั่วไป (ซ้าย) และโคมไฟฝ้าเพดานกลม หรือโคมไฟซาลาเปา (ขวา)
2) โคมไฟให้แสงเฉพาะจุด (Accent Lighting)
ใช้ส่องเน้นวัตถุหรือสิ่งที่ต้องการให้โดดเด่นน่าสนใจ เช่น บริเวณผนังที่มีการ ตกแต่ง บริเวณที่มีรูปภาพ หรือบริเวณที่ตั้งชิ้นงานศิลปะ ได้แก่
โคมฝังฝ้าเพดานแบบปรับมุมได้ (Adjustable Downlight) ลักษณะโคมไฟเหมือนโคมฝังฝ้าเพดานทั่วไป สามารถปรับมุมของแสงให้ส่องในบริเวณที่ต้องการได้ โดยการใช้หลอดไฟที่มีมุมของแสงที่ส่องเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการเน้นความสำคัญ แต่ไม่ต้องการให้เห็นตัวโคม
ภาพ : ห้องนอนติดตั้งโคมไฟฝังฝ้าเพดานแบบปรับมุมได้เพื่อส่องเน้นรูปภาพที่หัวเตียง (ซ้าย) และโคมไฟฝังฝ้าเพดานแบบปรับมุมได้ (ขวา)
โคมไฟแบบมีรางปรับตำแหน่งได้ (Track Light) ลักษณะโคมไฟลอยตัวมีขาติดตั้งกับรางสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้แสงในตำแหน่งที่ต้องการ มีทั้งแบบติดตั้งกับฝ้าเพดานและแบบแขวนลงมาจากฝ้าเพดานเพื่อให้แสงส่องในระยะที่ต้องการ
ภาพ: โคมไฟแบบมีรางปรับตำแหน่งได้ (บน) และตัวอย่างบ้านตกแต่งสไตล์ลอฟท์ ใช้โคมไฟแบบมีรางปรับตำแหน่งได้เพื่อให้แสงสว่างและสร้างรูปแบบเฉพาะให้กับบ้าน (ล่าง)
3) โคมไฟเพื่อความสวยงาม (Decoration Lamp)
มีรูปแบบให้เลือกตามสไตล์ของบ้าน ทั้งยังให้แสงสว่างที่ช่วยเสริมให้บ้านดูสวยงามน่าสนใจยิ่งขึ้น ได้แก่
โคมไฟห้อยฝ้าเพดาน (Hanging lamp) ให้แสงสว่างพร้อมทั้งสร้างความสวยงามให้กับห้องเพื่อเน้นความสำคัญ เช่น การติดตั้งโคมไฟระย้าหรือโคมไฟห้อย (Pendant) ในส่วนห้องรับแขกเพื่อสร้างความหรูหราสวยงาม ส่วนห้องอาหารการติดไฟห้อยเหนือโต๊ะทานอาหารเน้นให้อาหารน่ารับประทาน ส่วนห้องทำงานยังสามารถนำโคมไฟแขวนแบบทางยาวมาให้แสงเฉพาะในส่วนโต๊ะทำงานที่วางลอยกลางห้อง ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับบ้าน
ภาพ : การใช้โคมไฟห้อยฝ้าเพดานเพื่อให้แสงสว่างและตกแต่งในห้องต่างๆ
โคมไฟติดผนัง (Wall Lamp) หรือเรียกโดยทั่วไปว่าไฟกิ่ง ให้แสงสว่างเพื่อความสวยงามในจุดที่ไม่ต้องการความสว่างมากนัก เช่น ทางเดิน โถงบันได หัวเตียง โดยในส่วนหัวเตียงโคมไฟติดผนังข้างเตียงนอกจากใช้เพื่อให้แสงยามค่ำคืนยังสามารถใช้ในการอ่านหนังสือได้อีกด้วย
ภาพ : การใช้โคมไฟติดผนังเพื่อให้แสงสว่างและตกแต่งในห้องต่างๆ
โคมไฟแบบตั้งพื้นและแบบตั้งโต๊ะ เป็นทั้งของตกแต่งรวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศให้กับบ้าน สามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งได้ง่าย ให้ความสว่างเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการ เช่น บริเวณข้างโซฟา ข้างหัวเตียง หรือบนโต๊ะทำงาน
ภาพ : การใช้โคมไฟแบบตั้งพื้นและแบบตั้งโต๊ะเพื่อให้แสงสว่างและตกแต่งในห้องต่างๆ
4) โคมไฟติดตั้งในเฟอร์นิเจอร์
เป็นโคมไฟที่ติดตั้งมากับตู้ ชั้นวางของ เฟอร์นิเจอร์ Built-in สำหรับให้แสงสว่างบริเวณพื้นที่ใช้สอย เช่น เคาน์เตอร์ครัว หรือให้แสงสว่างเพื่อความสวยงาม เช่น ตู้โชว์ ตู้เสื้อผ้า โดยจะฝังในตู้ หรือติดบนผิวตู้ มีลักษณะเป็นโคมคล้ายโคมฝังฝ้าเพดาน (Downlight) แต่มีรูปร่างแบนและขนาดเล็กเพื่อให้สามารถฝังไว้ในโครงหรือตัววัสดุของเฟอร์นิเจอร์ได้
ภาพ : เคาน์เตอร์ครัวติดตั้งโคมไฟแบบฝังใต้ตู้ลอยเพื่อให้แสงสว่างบริเวณเคาน์เตอร์
ภาพ: ไฟในตู้เสื้อผ้าและตู้โชว์
5) โคมไฟใช้ภายนอกบ้าน
เป็นโคมไฟสำหรับใช้งานภายนอกบ้านที่ซึ่งทนสภาวะอากาศได้ และสามารถกันน้ำได้ดี และมีรูปแบบที่เหมาะกับการใช้งานสำหรับส่วนต่างๆ ประกอบด้วย
ระเบียงทางเดินและที่จอดรถ มีรูปแบบเหมือนโคมที่ใช้ภายในบ้าน แต่สามารถติดตั้งภายนอก กันน้ำและทนแดดได้ดี
ภาพ: การให้ความสว่างรอบบ้านด้วยการติดโคมไฟที่ผนังโดยรอบ (ซ้าย) โคมไฟติดผนังรูปแบบต่างๆ ใช้เพื่อให้แสงสว่างภายนอก บริเวณทางเดิน ที่จอดรถ (ขวา)
โคมไฟใต้น้ำ ใช้เพื่อให้แสงสว่างแก่บ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ ถูกออกแบบมาสำหรับติดตั้งใต้น้ำโดยเฉพาะ สามารถกันน้ำในสระที่มีแรงดันมากไม่ให้เข้าภายในตัวโคมได้ โคมไฟใต้น้ำเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งยังสร้างความสวยงามและส่งเสริมบรรยากาศได้อีกด้วย
ภาพ: บรรยากาศบริเวณสระว่ายน้ำที่มีการให้แสงภายในสระ (ซ้าย) และโคมไฟใต้น้ำ (ขวา)
โคมไฟสนาม ใช้เพื่อให้แสงสว่างแก่ทางเดิน ช่วยสร้างความปลอดภัยและตกแต่งบริเวณสวนให้สวยงาม
ภาพซ้าย : การใช้โคมไฟสนามเพื่อให้ความสว่างแก่สวนและทางเดินภายนอกบ้าน
โคมไฟฝังพื้นหรือผนัง ใช้เพื่อให้แสงสว่างบริเวณทางเดิน หรือบริเวณขั้นบันได
ภาพ : โคมไฟฝังพื้นเพื่อช่วยให้ผนังดูน่าสนใจและสวยงามยิ่งขึ้น ทั้งยังให้ความสว่างแก่บริเวณโดยรอบ (บน) และโคมไฟฝังผนังใช้เพื่อให้ความสว่างแก่ทางเดิน หรือบริเวณขั้นบันได (ล่าง)
เมื่อเจ้าของบ้านรู้จักประเภทของโคมไฟ ต่างๆ แล้วการเลือกโคมไฟสำหรับใช้งานส่วนต่างๆ ของบ้านก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้โคมไฟให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่อาจมีหลักการบางอย่างที่เจ้าของบ้านควรทราบ เพื่อการเลือกใช้ที่ลงตัวยิ่งขึ้น หากเจ้าของบ้านสนใจสามารถตามอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่าง
อ่านเพิ่มเติม: ตกแต่งไฟในบ้าน เลือกโคมไฟแบบไหนให้บ้านสวย ใช้งานดี