บ้านเก่า 2 ชั้นอายุกว่า 20 ปี ที่มีความเสื่อมโทรมตามอายุการใช้งาน ได้รับการรีโนเวตใหม่ให้แข็งแรง และตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งฟังก์ชันและดีไซน์
งานรีโนเวตบ้านเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่มีบ้านอยู่แล้ว และต้องการปรับปรุงต่อเติมใหม่ อาจเพราะอายุบ้านที่อยู่มานานจนเริ่มเสื่อมโทรม การขยายครอบครัวจนพื้นที่ไม่เพียงพอ ผู้อยู่อาศัยที่มีอายุมากขึ้น หรืออื่นใดก็ตาม ล้วนต้องคำนึงถึงความแข็งแรงปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้งาน อยู่สบายและสวยงาม
สำหรับบ้านหลังนี้อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีอายุกว่า 20 ปี เป็นบ้าน 2 ชั้นสีชมพูที่มีการจัดวางแปลนตามแพทเทิร์นของหมู่บ้านจัดสรร มีระดับความสูงฝ้าเพดานที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงมีขนาดช่องเปิดหรือประตู-หน้าต่างที่เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้มีสัดส่วนตามการใช้งาน บรรยากาศภายในบ้านโดยรวมจึงทำให้รู้สึกอึดอัด การรับลมและการระบายถ่ายเทอากาศไม่ดีเท่าที่ควร แสงธรรมชาติเข้าได้น้อย ภายในบ้านจึงค่อนข้างมืด เจ้าของบ้านจึงต้องการปรับปรุงบ้านใหม่ให้มีความทันสมัย โปร่งสบาย และตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น
เมื่อเป็นบ้านเก่าที่ต้องการรีโนเวตใหม่ สถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านเดิมก่อนเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากการเข้ามาสำรวจบ้าน ตรวจสอบสภาพหน้างานจริงกับแบบบ้านเดิม สภาพโครงสร้างที่เป็นอยู่ทั้งเสา คาน โครงหลังคา รอยร้าวบนผนังและจุดอื่น รอยรั่วตามจุดต่าง ๆ เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาจากความทรุดโทรมของบ้านเดิมไปพร้อม ๆ กับการปรับปรุงตกแต่งบ้านใหม่ จุดไหนที่กระทบกับโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนวัสดุหลังคาที่อาจเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเดิม ต้องให้วิศวกรช่วยคำนวนการรับน้ำหนักเพื่อความปลอดภัย
ภาพ: บ้านหลังนี้อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีอายุกว่า 20 ปี
ภาพ: บ้านเดิมที่เป็นรูปแบบบ้านจัดสรรสีชมพู
ภาพ: บรรยากาศภายในบ้านก่อนปรับปรุงค่อนข้างมืด ฝ้าเพดานเตี้ยทำให้รู้สึกอึดอัด
ภาพ: บรรยากาศภายในบ้านเดิมบริเวณต่างๆ
.
แนวคิดในการรีโนเวตบ้าน
สถาปนิกออกแบบปรับปรุงโดยเน้นการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก ทั้งเรื่องของดีไซน์บ้านที่ต้องการความทันสมัยมากขึ้น ภายในที่ต้องโปร่งรับแสงจากภายนอกเข้ามา และต้องมีการระบายอากาศที่ดีจากลมธรรมชาติ โดยยังคงความเป็นส่วนตัว รวมถึงความต้องการเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเจ้าของบ้าน อย่างพื้นที่จอดรถ 3 คัน ห้องนอนที่แยกพื้นที่แต่งหน้าแต่งตัวเพื่อไม่ให้รบกวนอีกคนที่ยังนอนอยู่
รูปแบบบ้านยังคงรูปทรงเดิม เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบโครงสร้างมากนัก เปลี่ยนสีผนังจากบ้านสีชมพูเป็นสีดำขาวตามที่เจ้าของบ้านเลือก เพิ่ม Facade ระแนงไม้สีดำให้บ้านในทิศใต้ ซึ่งนอกจากช่วยกรองแสงแดดที่ต้องปะทะผนังบ้านโดยตรงแล้ว ยังช่วยบังพื้นที่ไม่น่ามองอย่างพื้นที่ตากผ้าชั้นบนด้วย และทำให้บ้านดูแปลกตาโดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิม
ภาพ: เปลี่ยนโฉมบ้านให้มีความทันสมัยขึ้นโดยกระทบโครงสร้างเดิมน้อยที่สุด
ภาพ: หน้าตาของบ้านที่ปรับปรุงเสร็จแล้ว
.
แนวคิดทางจิตวิทยาด้านการมองเห็นสถาปัตยกรรมก็ถูกนำมาใช้ในการรีโนเวตบ้านหลังนี้ สถาปนิกตั้งใจให้งานออกมาไม่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่เรียบร้อยมาก ยังคงเห็นโครงสร้างภายในเสาคานที่ไม่เนี้ยบ เส้นสายที่ไม่ได้จับเซี้ยมหรือฉาบเรียบคมเป็นเส้นตรง ทำให้เห็นร่องรอยความขรุขระของพื้นผิวและเม็ดปูน แล้วเลือกทาสีคลุมโทนด้วยสีดำขาว ให้รู้สึกถึงการปล่อยวาง ความไม่กดดัน ความสงบผ่อนคลาย
ภาพ: ภายในบ้านเปิดให้เห็นโครงสร้างเสาคาน ความไม่เนี้ยบบ้าง แล้วคลุมโทนด้วยสีดำขาว
ภาพ: โชว์โครงสร้างเสาคานแบบที่ไม่จับเซี้ยมฉาบปูนเก็บความเรียบร้อย
.
การปรับปรุงบ้านให้โปร่งและระบายความร้อนได้ดี
ด้วยบ้านที่เป็นยุคเก่า ฝ้าเพดานจึงค่อนข้างเตี้ย ช่องเปิดที่ปิดมิดชิดเพื่อความเป็นส่วนตัว แสงภายนอกเข้ามาได้น้อย ก็ยิ่งทำให้ภายในบ้านมืดและรู้สึกอึดอัด สถาปนิกจึงรื้อฝ้าเพดานชั้นล่างออกเพื่อเพิ่มความสูง และเปลี่ยนประตูหน้าต่างทางทิศเหนือและทิศตะวันออกให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้รับแสงภายนอกเข้ามาได้เต็มที่ ฝ้าเพดานชั้นบนก็ถูกรื้อออกด้วยเช่นกันเพื่อให้ห้องที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักดูโปร่งและอยู่สบายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาบางส่วนเป็นกระเบื้องหลังคาโปร่งแสงในห้องแต่งตัว เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องลงมาช่วยให้การแต่งตัวแต่งหน้าชัดเจน สมจริง ไม่หลอกตาและยังทำให้ภายในบ้านสว่างขึ้นอีกด้วย
ภาพ: บ้านชั้นล่างมีการรื้อฝ้าเพดานออก และเปลี่ยนประตูหน้าต่างเดิมเป็นประตูบานเลื่อนกระจกใสขนาดใหญ่
ภาพ: บ้านชั้นบนมีการรื้อฝ้าเพดานออก ปรับเป็นฝ้าเอียงตามหลังคาทรงจั่ว เพื่อให้ห้องขนาดเล็กดูโปร่งขึ้น
ภาพ: เปลี่ยนใช้กระเบื้องหลังคาโปร่งแสงในตำแหน่งห้องแต่งตัว เพื่อรับแสงธรรมชาติ
.
.
สถาปนิกแก้ปัญหาบ้านร้อนด้วยการคำนึงถึงทิศทางของแดดและลม ออกแบบปรับปรุงบ้านที่ช่วยให้เกิดการระบายอากาศที่ดี ไม่เกิดความร้อนสะสมในบ้าน โดยวางตำแหน่งห้องเก็บของและห้องน้ำอยู่ในทิศตะวันตก เพราะเป็นด้านที่ถูกแดดโดยตรง เป็นการบล็อกความร้อนไว้ไม่ให้เข้ามาในห้องนั่งเล่นได้ และเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ในทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้รับลมธรรมชาติได้ดีนอกจากนี้ ยังออกแบบจัดวางตำแหน่งโถงสูงหรือ Double Space โดยทุบสกัดพื้นเดิมออก 3 จุด ได้แก่ บริเวณห้องนั่งเล่น บริเวณกลางบ้านซึ่งเป็นห้องน้ำชั้น 2 เดิม และเหนือเคาน์เตอร์ครัวซึ่งเป็นส่วนต่อเติมเดิมของบ้าน เพื่อให้เป็นช่องทางในการระบายความร้อนขึ้นไปด้านบน ช่วยทำให้บ้านโปร่งสบายขึ้นด้วย อีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อยู่อาศัยในบ้านได้สบายโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศคือ พัดลมแขวนฝ้าเพดาน 2 จุด ใกล้กับตำแหน่ง Double Space เพื่อช่วยระบายถ่ายเทอากาศ ไม่ทำให้เกิดการสะสมความร้อนไว้ในบ้าน
ภาพ: ด้านหลังห้องนั่งเล่นเป็นห้องเก็บของและห้องน้ำในทิศตะวันตกช่วยป้องกันความร้อนและเพิ่มความเป็นส่วนตัว
ภาพ: ทุบสกัดพื้นชั้น 2 ทำเป็น Double Space ในห้องนั่งเล่น ทำให้บ้านโปร่งสบายและช่วยระบายความร้อนในบ้าน
ภาพ: Double Space บริเวณห้องนั่งเล่น
ภาพ: Double Space บริเวณกลางบ้าน
.
การเลือกใช้วัสดุ
บ้านมีรอยรั่วจากหลังคาหลายจุด สำรวจแล้วพบว่าสภาพของวัสดุมุงหลังคาเสื่อมสภาพแตกร้าว สกรูยึดหมดอายุใช้งาน อีกทั้งการต่อเติมหลังคาของบ้านเดิมก่อนหน้านี้ก็มีรอยรั่วบริเวณแนวรอยต่อหลังคาด้วย สถาปนิกจึงเลือกเปลี่ยนหลังคาใหม่ทั้งหมด โดยยังเลือกใช้กระเบื้องหลังคาคอนกรีตเหมือนเดิม แต่ตรงหลังคาที่มีการต่อเติมไว้ก่อนหน้านี้ สถาปนิกเลือกเปลี่ยนเป็นกระเบื้องหลังคาลอนคู่และเมทัลชีทเพื่อลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้างและโครงหลังคาลง ตามคำแนะนำของวิศวกร บ้านหลังนี้จึงมีวัสดุมุงหลังคา 3 ประเภท ได้แก่ กระเบื้องหลังคาคอนกรีต กระเบื้องหลังคาลอนคู่ และหลังคาเมทัลชีท
ภาพ: หลังคาใช้วัสดุมุงหลังคา 3 ประเภทเพื่อลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้างบ้านเดิม
.
.
บางจุดที่ต้องการแสงส่องถึงอย่างห้องน้ำชั้นล่าง สถาปนิกออกแบบให้แนวผนังขยับออกไปจากแนวเสา-คาน แล้วมุงด้วยกระเบื้องหลังคาโปร่งแสง ซึ่งได้ทั้งแสงสว่างตามธรรมชาติ และช่วยลดความอับชื้นภายในห้องน้ำได้เป็นอย่างดี
ภาพ: ผนังห้องน้ำขยับออกไปจากแนวเสา-คาน แล้วมุงด้วยหลังคากระเบื้องโปร่งแสง เพื่อให้แสงส่องลงมาถึง
.
.
พื้นภายในบ้านเลือกใช้วัสดุปูพื้นลายไม้เพื่อทำให้บ้านนุ่มนวลอบอุ่นขึ้น เนื่องจากผนังส่วนใหญ่เป็นสีดำแล้ว จึงต้องลดทอนความมืดความแข็งลง ที่สำคัญเวลาเดินบนพื้นจะให้สัมผัสที่สบายเท้า ไม่เย็นและไม่ลื่น โดยเน้น Double Space ด้วยพื้นกระเบื้องแกรนิตโต้สีดำเพื่อให้ดูน่าสนใจ
ภาพ: วัสดุปูพื้นลายไม้ช่วยทำให้บ้านนุ่มนวลอบอุ่น เน้น Double Space ด้วยพื้นกระเบื้องแกรนิตโต้สีดำ
.
.
การรีโนเวตบ้านเก่าไม่ใช่เรื่องง่าย และส่วนใหญ่มักมีค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง อย่างการซ่อมแซมโครงสร้างบ้านเดิมที่อาจมีความทรุดโทรมมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ต้องมีการสำรวจบ้านจากผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน ดังนั้นปลายทางที่เรามองเห็นว่าบ้านเก่าหลังนี้สามารถรีโนเวตให้สวยงามได้ ระหว่างทางอาจต้องเตรียมใจหลายอย่าง การมีสถาปนิกเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดีในการออกแบบปรับปรุงบ้านจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาบ้านให้มีความแข็งแรงปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้งาน ที่สำคัญอยู่สบาย และสวยงามตามที่เจ้าของบ้านต้องการได้เป็นอย่างดี
.
ขอขอบคุณ
เจ้าของบ้าน: คุณปิยบุตร - คุณสิริกัญญา หวังเชิดชูเกียรติ
สถาปนิก: คุณณชพล เฉลิมลักษณ์ | Wardwai Architect and Design
Design Connext คอมมูนิตี้แหล่งรวมสถาปนิก/นักออกแบบ ที่ช่วยเชื่อมต่อทุกองศาของงานออกแบบ
.
.
อ่านเพิ่มเติม: บ้านโมเดิร์นทรงกล่องเพื่อครอบครัวใหญ่อยู่สบาย
อ่านเพิ่มเติม: บ้านอิงภู เซฟเฮาส์วิวภูเขา เข้าใจธรรมชาติ ตอบโจทย์การอยู่อาศัยอย่างแท้จริง
UNIX
ไม้พื้น SPC UNIX 4 mm Brown Oak SP111
1,180.00 บาท / กล่อง
เอสซีจี
หลังคาเอสซีจี เมทัลรูฟ ลอน SSR760 - NoiseTECH 0.35 ขนาด 0.76 x 6.20 เมตร สี CHARCOAL GRAY
1,635.00 บาท / ชิ้น1,990.00 บาท
ถอดแบบฟรี พร้อมรับใบเสนอราคาและโปรโมชั่น ติดต่อที่ line @scghomeonline