จะปรับปรุงห้องน้ำให้ผู้สูงอายุทั้งที ควรเน้นที่ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเลือกวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้สูงอายุมากที่สุด และสอดคล้องกับพื้นที่ห้องน้ำที่มี
ผู้สูงอายุที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จะมีทั้งผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมถอยบ้างแต่ยังเดินได้สะดวก ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการทรงตัว และผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุจึงควรมีความเหมาะสม รองรับสรีระร่างกายที่เปลี่ยนไป และตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุแต่ละคน โดยพื้นฐานแล้วควรออกแบบห้องน้ำโดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะห้องน้ำจะมีความชื้นและพื้นเปียกน้ำที่อาจเป็นสาเหตุของการทำให้ลื่นล้มได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆ ในบ้าน ซึ่งหากห้องน้ำที่มียังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุ ก็สามารถปรับปรุงหรือรีโนเวทได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับพื้นให้มีระดับเดียวกันทั้งห้อง เลือกใช้วัสดุพื้นไม่ลื่น เลือกสีพื้นผนังที่ตัดกันเพื่อให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เลือกรูปแบบสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประกอบที่เอื้อต่อการใช้งาน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์เสริมช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุขณะปฏิบัติภารกิจในห้องน้ำ
เลือกพื้นผนังสีตัดกัน ให้มองเห็นสะดวก
เนื่องจากสายตาผู้สูงอายุไม่ดีเหมือนแต่ก่อน การเลือกกระเบื้องพื้นผนังที่สีแตกต่างกัน จะทำให้ผู้สูงอายุแยกความต่างของพื้นผนังได้อย่างชัดเจน
ภาพ: เลือกสีของพื้นและผนังที่แตกต่างกัน จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถแยกพื้นและผนังออกจากกันได้อย่างชัดเจน
พื้นเรียบระดับเดียวทั้งห้อง เลือกใช้วัสดุไม่ลื่น
พื้นห้องน้ำผู้สูงอายุ ควรปรับให้เป็นพื้นเรียบในระดับเดียวกันทั้งห้อง เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม เปลี่ยนมาใช้ “รางน้ำทิ้งกันกลิ่นแบบยาว” ระหว่างโซนแห้งและโซนเปียก รวมถึงบริเวณทางเข้า-ออกระหว่างห้องน้ำกับห้องอื่นๆ ในบ้าน เพื่อดักน้ำให้ระบายออกไปก่อนไหลล้นออกมานอกห้องน้ำ ทดแทนการใช้ธรณีประตูหรือพื้นต่างระดับ อีกทั้งเลือกใช้วัสดุกระเบื้องพื้นที่มีความฝืดตั้งแต่ R10 ขึ้นไป เพื่อป้องกันการลื่นหกล้มในห้องน้ำ
*กรณีผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น หากบ้านที่พื้นที่มากพอสำหรับการขยายห้องน้ำ ควรจัดสรรให้มีบริเวณที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 ซม. เพื่อให้ใช้งานและกลับรถเข็นได้สะดวก
ภาพ: พื้นเรียบได้ระดับเดียวกันทั้งห้อง โดยเลือกใช้รางน้ำทิ้งกันกลิ่นแบบยาว ระหว่างโซนแห้งและโซนเปียก (ภาพซ้าย) และบริเวณทางเข้าออกระหว่างห้องน้ำกับห้องอื่นในบ้าน (ภาพขวา)
ภาพ: เลือกวัสดุกระเบื้องที่มีความฝืดตั้งแต่ R10 ขึ้นไป
เลือกใช้ประตูเลื่อนแบบรางแขวนด้านบน ไม่มีธรณีประตู
เปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อนที่สามารถเลื่อนเปิดปิดได้ง่าย ไม่ต้องออกแรงเยอะ เป็นบานเลื่อนแบบรางแขวนด้านบนเพื่อลดโอกาสเกิดการสะดุดหกล้ม ช่องประตูกว้างอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อให้รถเข็นสามารถเข้าออกได้ง่าย (หากจำเป็นต้องใช้ประตูบานเปิด แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ลูกบิดเขาควายหรือแบบคันโยก/ก้านโยก)
ภาพ: ประตูบานเลื่อนแบบที่มีรางแขวนอยู่ด้านบน เพื่อลดโอกาสเกิดการสะดุดหกล้ม
ภาพ: หากต้องใช้ประตูบานเปิด ให้เปลี่ยนมาใช้ลูกบิดเขาควายหรือแบบก้านโยก
สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประกอบที่ออกแบบมาให้เอื้อต่อการใช้งาน
-ติดตั้งสุขภัณฑ์ที่มีที่กดชำระแบบคันโยกอยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างสุขภัณฑ์ เพื่อความสะดวกในการกดชำระ โดยเลือกสุขภัณฑ์ที่มีความสูงเหมาะสมกับสรีระผู้สูงอายุแต่ละคน (ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยจะมีการวัดตัวผู้สูงอายุ เพื่อกำหนดระยะต่างๆ ในการเลือกความสูงของสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ให้เหมาะสม รวมถึงระยะการติดตั้งราวจับทรงตัวให้พอดีกับการใช้งาน) สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แนะนำให้เลือกสุขภัณฑ์ที่มีความสูงประมาณ 45 ซม. เพื่อให้ลุกนั่งได้สะดวก
-เลือกใช้ก๊อกน้ำแบบก้านปัด ให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องออกแรงมาก
-สำหรับอ่างล้างหน้าให้ติดตั้งราวทรงตัวบริเวณอ่างล้างหน้าเพิ่มเพื่อช่วยพยุงตัว สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นแนะนำให้ติดตั้งอ่างล้างหน้าในระยะความสูงที่เหมาะสมและเลือกแบบที่มีส่วนเว้าโค้งด้านหน้า มีพื้นที่ใต้อ่าง ให้รถเข็นสามารถเข็นเข้าไปและใช้งานอ่างล้างหน้าได้สะดวก
-ฝักบัวเลือกแบบที่มีก้านให้ปรับระดับได้ สามารถใช้งานได้ทั้งตอนยืนหรือตอนนั่ง
-ที่นั่งอาบน้ำควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ห้องน้ำแต่ละห้อง หากมีพื้นที่จำกัดสามารถเลือกเก้าอี้นั่งอาบน้ำแบบพับเก็บได้ หรือหากมีพื้นที่กว้างมากพอให้เลือกแบบสี่ขาที่มั่นคงแข็งแรงปรับระยะต่างๆ ได้
ภาพ: สุขภัณฑ์ที่มีความสูงเหมาะสมกับสรีระของผู้สูงอายุแต่ละคน สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แนะนำให้เลือกสุขภัณฑ์ที่มีความสูงประมาณ 45 ซม. เพื่อให้ลุกนั่งได้สะดวก
ภาพ: ก๊อกแบบก้านปัด
ภาพ: ติดตั้งราวทรงตัวบริเวณอ่างล้างหน้าเพิ่ม เพื่อช่วยพยุงตัว
ภาพ: สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แนะนำให้เลือกอ่างล้างหน้าแบบที่มีส่วนเว้าโค้งด้านหน้า มีพื้นที่ใต้อ่าง ให้รถเข็นสามารถเข็นเข้าไปและใช้งานอ่างล้างหน้าได้สะดวก
ภาพ: เลือกฝักบัวแบบที่มีก้านให้ปรับระดับได้ และ ติดตั้งที่นั่งอาบน้ำแบบพับเก็บได้ (ภาพซ้าย) หรือเลือกเก้าอี้อาบน้ำสี่ขาที่มั่นคงแข็งแรงปรับระยะต่างๆ ได้ (ภาพขวา)
ติดตั้งราวจับทรงตัวเพื่ออำนวยความสะดวก
ติดตั้งราวจับทรงตัวตามจุดต่างๆ ในห้องน้ำเพิ่มเติมตามระยะที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุแต่ละคน เช่น ราวจับติดผนังอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุทรงตัวขณะเดิน ราวจับบริเวณอ่างล้างหน้าเพื่อช่วยพยุงตัวขณะใช้งานอ่างล้างหน้า ราวจับทรงตัวขณะลุกนั่งบริเวณสุขภัณฑ์และที่นั่งอาบน้ำ ซึ่งมีราวจับทรงตัวให้เลือกทั้งแบบปกติและแบบพับเก็บได้ โดยติดตั้งราวจับตามจุดต่างๆ อย่างแข็งแรง เพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ
ภาพ: ราวจับตามจุดต่างๆ ให้ผู้สูงอายุลุกนั่งได้สะดวก อีกทั้งเป็นราวช่วยทรงตัวขณะเดิน
ติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อความปลอดภัย
ติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ช่วยดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุ เช่นระบบที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเสี่ยงหากผู้สูงอายุหกล้ม ปุ่มกดฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ ระบบตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น อุปกรณ์โทรหาลูกหลานแบบทันท่วงที (DoCare Protect)
ภาพ: ติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น ปุ่มกดขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน
การเลือกสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ หากผู้สูงอายุสะดวก สามารถชวนผู้สูงอายุไปเลือกรูปแบบที่ชอบและใช้งานถนัด รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมสำหรับการปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน เหมาะกับห้องน้ำแต่ละบ้าน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานรอบด้านตามงบประมาณที่มี
สนใจ บริการ รื้อถอน ติดตั้งกระเบื้อง สุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ห้องน้ำ คลิก