แนะนำวิธีตรวจสภาพบ้าน สำหรับบ้านที่มีอายุเกิน 15 ปี ทั้งเรื่องวัสดุพื้น ผนัง หลังคา และงานระบบไฟฟ้า สุขาภิบาล พร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อให้อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและราบรื่น
ตอนที่แล้วเราได้แนะนำวิธี ตรวจสุขภาพบ้าน ฉบับเจ้าของบ้าน สำหรับบ้านอายุไม่เกิน 15 ปี ครั้งนี้จะเล่าถึงบ้านที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป ซึ่งมักจะเริ่มทำการต่อเติมหรือรีโนเวทรอบใหญ่เพื่อรองรับจำนวนสมาชิกภายในบ้านที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงที่บ้านหรือตัวอาคารเริ่มเกิดความเสื่อมโทรม ซึ่งการตรวจสภาพบ้านอายุเกิน 15 ปี อาจพบปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “ปัญหาเกี่ยวกับวัสดุกรุผิว” ในส่วนของพื้น ผนัง หลังคา รวมถึง “ปัญหางานระบบ” ทั้งไฟฟ้า และสุขาภิบาล โดยสรุปเป็นหัวข้อได้ดังนี้
ตรวจสภาพพื้นรอบบ้านที่แตกร้าวจากปัญหาพื้นทรุด
สังเกตพื้นที่จอดรถ พื้นทางเดินรอบบ้าน อาจเริ่มแยกและมีระดับที่ต่างกัน หรืออาจเกิดอาการพื้นทรุดตัวเป็นแอ่งตรงกลางผืนที่จอดรถโดยมีรอยร้าวด้วย สาเหตุส่วนใหญ่คือพื้นบริเวณดังกล่าวนั้นมักเป็นโครงสร้างพื้นวางบนดิน (Slab on ground) โดยปราศจากโครงสร้างใต้ดินหรือเสาเข็มรองรับ ต่างกับโครงสร้างบ้านที่ถูกออกแบบเป็นโครงสร้างพื้นวางบนคาน (Slab on Beam) และมีเสาเข็มรองรับ รอยแยกที่ว่านี้อันตราย ไม่ทำให้โครงสร้างบ้านพัง แต่อาจสร้างความหงุดหงิดและใช้งานพื้นที่ได้ยากลำบาก
**การแก้ไข: **หากเจ้าของบ้านไม่อยากรื้อทุบพื้นเดิมสามารถแก้ไขโดยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน จากนั้นบริเวณรอยต่อที่ทำการตัดแยกอาจใช้วิธีโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวมีไม่มากอาจใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นและยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน
ภาพ: ตัวอย่างโฟมเส้นสำหรับอุดรอยต่อ
ภาพ: ตัวอย่างการใช้กรวดโรยเพื่อความสวยงามปกปิดช่องว่างระหว่างรอยต่อของพื้น
ส่วนกรณีมีรอยร้าวเกิดกลางผืนที่จอดรถโดยมีรอยแยกบริเวณขอบรอยต่อร่วมด้วยนั้น การตัดแยกโครงสร้างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ควรสกัดพื้นที่จอดรถเดิมที่มีปัญหาและทำการเทพื้นใหม่ โดยแยกรอยต่อระหว่างโครงสร้างบ้านและพื้นที่จอดรถด้วยเช่นกัน และหากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่มากๆ ควรทำการตัดแยกรอยต่อบนพื้นทุกๆ 3 เมตร เพื่อป้องกันการแตกร้าวจากการยืดหดตัวของคอนกรีต
ปรึกษางานปรับปรุงซ่อมแซมบ้านกับผู้เชี่ยวชาญ คลิก
อีกทางเลือกคือ ใช้บล็อกปูพื้นหรือกระเบื้องคอนกรีตทดแทนพื้นคอนกรีต ข้อดีคือ ตัดปัญหาพื้นทรุดกระเบื้องแตกออกไป เพราะหากเกิดการทรุดตัวเพิ่มเติมอีก ก็สามารถรื้อบล็อกหรือกระเบื้องคอนกรีตขึ้นมาทำการปรับระดับและติดตั้งใหม่ได้อย่างง่ายดายและประหยัด ยิ่งปัจจุบันมีหลายหลากรูปแบบและสีสันให้เลือกใช้ ตอบโจทย์เจ้าของบ้านได้มากขึ้น
ภาพ: ตัวอย่างการตกแต่งพื้นภายนอกบ้านด้วยบล็อกปูพื้น
บริการปรับปรุง ติดตั้งวัสดุตกแต่งพื้นภายนอกบ้าน คลิก
ตรวจสภาพผนังเป็นเชื้อรา ผนังชื้นสีลอก
เป็นปัญหาที่เกิดจากความชื้นสะสมบริเวณผนังและอาจเป็นสัญญาณว่าสีทาผนังอาจมีการเสื่อมสภาพ หรือมีรอยร้าวบริเวณผนังจนทำให้ความชื้นจากภายนอกเข้ามาได้ง่าย ส่วนใหญ่แล้วปัญหาผนังชื้นมักเกิดขึ้นบริเวณผนังชั้นล่าง สูงจากพื้นประมาณไม่เกิน 1 เมตร
ภาพ: ตัวอย่างการเกิดเชื้อราบนผนัง
การแก้ไข: ควรทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราจากผนัง แล้วซ่อมปรับปรุงผนังส่วนดังกล่าว หากเชื้อราเกิดที่ผนังด้านล่าง ให้ปรับปรุงผนังตั้งแต่เหนือพื้นจนถึงระดับสูงประมาณ 1 เมตร โดยใช้เครื่องเจียรขัดสีออกให้เหลือแต่เนื้อปูน จากนั้นเลือกวิธีตกแต่งให้ผนังสามารถระบายความชื้น ทำนองว่าทำให้ “ผนังหายใจได้” เช่น ทาสีที่มีคุณสมบัติระบายความชื้นได้ ทำผนังฉาบขัดมัน หรือทำผนังกรวดล้าง/ทรายล้าง บุหินธรรมชาติ พร้อมทาน้ำยากันตะไคร่
บริการตกแต่งผนังด้วยปูนซีเมนต์แบบต่างๆ คลิก
ตรวจสภาพหลังคา กระเบื้องหลังคาแตกร้าวรั่วซึม
แม้จะยังไม่พบน้ำหยดลงพื้นที่ใช้งานในบ้าน แต่บ้านที่อยู่อาศัยมานาน ควรตรวจสอบสภาพกระเบื้องหลังคาว่ามีการแตกร้าวรั่วซึมหรือไม่ หากสังเกตพบรอยคราบน้ำบริเวณฝ้าชั้นบนภายในบ้าน สันนิษฐานได้ว่าอาจเริ่มเกิดปัญหาหลังคารั่วซึมแล้ว
การแก้ไข: เบื้องต้นหากพบคราบน้ำหรือพบการรั่วซึมภายในอาคาร ควรตรวจสอบสภาพหลังคาว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายหรือไม่ เพราะนอกจากสาเหตุจากตัวกระเบื้องหลังคาแล้ว อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย อาทิ อุปกรณ์ครอบต่างๆ อาจมีการแตกหักเสียหาย หรืออาจเกิดจากปัญหาน้ำล้นรางก็เป็นไปได้เช่นกัน หากเจ้าของบ้านไม่ชำนาญในการตรวจสอบ อาจทำการติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านหลังคารั่วซึมเข้าตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการซ่อมหลังคารั่วเฉพาะจุด หรือเปลี่ยนหลังคาโดยรื้อกระเบื้องหลังคาเดิมทั้งผืนออกแล้วมุงกระเบื้องชุดใหม่ตามความเหมาะสม
ภาพ: ตัวอย่างการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาทั้งผืนโดยช่างผู้ชำนาญ โดยรื้อมุงเปลี่ยนทีละส่วน (สมาชิกในบ้านสามารถอยู่อาศัยได้ในขณะที่ช่างทำงาน)
ปรับปรุง ซ่อมแซมหลังคาบ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญ คลิก
ตรวจสภาพหลังคา กระเบื้องหลังคาดูเก่า สีซีดจางหรือเกิดราดำ
หลังคาที่ใช้งานมานานมักสีซีดหรือเกิดสิ่งสกปรกเกาะที่พื้นผิวจนทำให้บ้านดูหม่นหมองไม่สวยงามเหมือนก่อน โดยเฉพาะกระเบื้องหลังคาที่มีพื้นผิวขรุขระจะทำให้สิ่งสกปรกสามารถยึดเกาะได้ง่าย จึงมักจะมีคราบสกปรกและตะไคร่เกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจนมากกว่ากระเบื้องหลังคาที่มีผิวมัน
การแก้ไข: สามารถทำความสะอาดด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และอาจทาสีหลังคาบ้านให้ดูใหม่ด้วยเพื่อคืนความสดใสให้บ้านของเรา ซึ่งเจ้าของบ้านควรใช้บริการทีมงานมืออาชีพที่มีความชำนาญและใช้วัสดุอุปกรณ์ สี ที่ได้คุณภาพ เพื่อให้หลังคาสดสวยได้ยาวนานและไม่เกิดปัญหา โดยเฉพาะการฉีดน้ำทำความสะอาดหลังคา ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำไปยังบริเวณรอยต่อหรือจุดเปราะบางเพราะอาจทำให้หลังคาเกิดการแตกหักหรือเสียหาย รวมถึงต้องระวังมิให้น้ำที่ฉีดล้างกระเด็นไปเปรอะเปื้อนส่วนต่าง ๆ บริเวณรอบบ้าน หรือสร้างความเสียหายแก่เพื่อนบ้านด้วย
ภาพ: การล้างคราบสกปรกบนหลังคาด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง
ภาพ: การทาสีกระเบื้องหลังคาที่ซีดจางให้ดูสวยใหม่
ตรวจสอบปัญหางานระบบไฟฟ้า
ควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เต้ารับ เต้าเสียบ สายไฟ สวิตซ์ไฟ ว่ายังสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ หากพบว่ามีการฉีกขาดหรือผิดปกติในบริเวณใดควรรีบแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยเฉพาะสายไฟที่เดินลอยมักเสื่อมง่ายกว่าสายไฟที่เดินในท่อร้อยสายไฟ
ภาพ: สายไฟ สวิตช์ไฟ เต้ารับ ที่และอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่เก่าโทรมด้วยอายุการใช้งาน ควรมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า
ปรึกษางานปรับปรุงซ่อมแซมบ้านกับผู้เชี่ยวชาญ คลิก
ตรวจสอบปัญหางานระบบสุขาภิบาล น้ำเสียไม่ระบาย
หากน้ำเสียในบ้านระบายออกสู่ท่อสาธารณะไม่ได้เนื่องจากบ้านต่ำกว่าถนน ถนนหน้าบ้านและระดับท่อระบายน้ำสาธารณะถูกยกให้สูงขึ้น ทำให้การระบายน้ำจากภายในบ้านออกสู่ด้านนอกเป็นไปได้ยาก
การแก้ไข: ควรปรับปรุงบริเวณรอบบ้าน โดยทำขอบคันกั้นและขุดบ่อดักน้ำเอาไว้ แล้วใช้ปั๊มสูบน้ำออกภายนอกบริเวณบ้าน สำหรับน้ำทิ้งที่ไหลย้อนกลับมาทางท่อระบายน้ำสาธารณะ ต้องทำการอุดปิดตรงปากทางท่อระบายน้ำด้านที่ส่งน้ำลงท่อสาธารณะ จากนั้นต่อขอบบ่อพักเดิมให้สูงขึ้นและติดตั้งปั๊มจุ่มเพื่อสูบน้ำออก เพื่อให้สามารถรับน้ำทิ้งจากบ้านได้ตามปกติ
ภาพ: ตัวอย่างการปรับปรุงบ้านและพื้นที่รอบบ้านเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียไม่ระบาย
ปรึกษางานปรับปรุงซ่อมแซมบ้านกับผู้เชี่ยวชาญ คลิก
อ่านเพิ่มเติม: แนะนำวิธีตรวจสุขภาพบ้าน ฉบับเจ้าของบ้าน